นิทานชาดกเป็นสมบัติล้ำค่าของชาวพุทธ นิทานชาดกมิใช่เรื่องที่แต่งขึ้นเพื่อสอนคุณธรรม แต่นิทานชาดกคือเรื่องในอดีตชาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงแสดงแก่พระภิกษุในโอกาสต่างๆ เพื่อเป็นแบบแผนในการทำความดี หลักธรรมที่ได้จากการรับชมรับฟังนิทานชาดกนี้ สามารถนำไปใช้ให้เป็นคุณประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของตนเองและผู้อื่น
วันนี้ขอนำเสนอนิทานชาดก เรื่อง ปุณณปาติกชาดก ว่าด้วยความฉลาดทันคน...
สถานที่ตรัสชาดก
เชตะวันมหาวิหารนครสาวัตถี
สาเหตุที่ตรัสชาดก
ครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล ณ นครสาวัตถี
มีนักเลงขี้เหล้ากลุ่มหนึ่ง นั่งล้อมวงดื่มเหล้าเมาร่ำเป็นอาจิณ ไม่คิดทำการงานใดๆ
ได้แต่เบียดเบียนเงินทองจากครอบครัว
หรือไม่ก็หลอกลวงชาวบ้านบางครั้งก็ตัดช่องย่องเบาเขา หาเงินมาดื่มเหล้ากัน
วันหนึ่ง เงินที่มีไว้ซื้อเหล้าใกล้จะหมดลง
พวกขี้เหล้าจึงหันหน้าเข้าปรับทุกข์กันว่าควรจะทำอย่างไรดี
ขี้เหล้าหัวโจกคนหนึ่งก็เสนอแผนร้ายขึ้นมาว่า
ให้หาอุบายมอมเหล้าอนาถบิณฑิกเศรษฐีเมื่อท่านหมดสติแล้ว
จึงปลดเครื่องแต่งตัวของท่านไปขายเอาเงินมาซื้อเหล้าดื่มกัน
เช้าวันรุ่งขึ้น พวกขี้เหล้าก็นำยาเบื่อหนูผสมลงในไหเหล้าแล้วตั้งไว้
พร้อมกับนั่งล้อมวงทำทีเป็นดื่มเหล้ากันตามปกติ รอท่าอนาถบิณฑิกเศรษฐีเดินผ่านมา
คนพวกนี้ถึงแม้จะพบเห็นท่านเศรษฐีบ่อยๆ
ก็ไม่เคยรู้ว่าท่านเป็นพระโสดาบันแล้ว ย่อมมีศีล 5 มั่นคง
ไม่ดื่มสุราทุกประเภทแม้จะใช้ผสมยาก็ตาม ยิ่งกว่านั้น
ท่านยังมีศรัทธามั่นคงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หมคความถือตัว
แต่มีความอ่อนน้อมถ่อมตนอยู่เป็นนิจ
ไม่นานนักหลังจากท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
กลับจากเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินได้เดินผ่านมา
ขี้เหล้าคนหนึ่งรีบกระวีกระวาดออกไปต้อนรับ
พลางกล่าวเชิญชวนท่านด้วยอาการพินอบพิเทาให้ท่านร่วมวงดื่มเหล้าด้วย
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นพระโสดาบันแล้ว
ย่อมมีศีลมั่นคงไม่ดื่มสุรายาเมาทุกชนิด แต่เมื่อถูกชวน
ท่านก็นึกเฉลียวใจว่าต้องมีอะไรแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่เป็นแน่
เพราะคนพวกนี้ถึงแม้จะเห็นท่านบ่อยๆก็ไม่เคยทักทายปราศรัย หรือเอ่ยปากชักชวนให้ดื่มเหล้าด้วยเลยสักครั้ง
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีจึงคิดว่าเจ้าขี้เหล้าพวกนี้มีความคิดไม่ชอบมาพากล
เห็นที่จะปล่อยไว้ไม่ได้เสียแล้ว จึงทำทีเดินเข้าไปใกล้ๆ วงเหล้า
ชำเลืองดูกิริยาอาการของขี้เหล้าพวกนี้แล้วตะคอกขึ้นทันทีว่า
“เจ้าพวกขี้เหล้า เจ้าเอายาเบื่อผสมเหล้า หมายจะหมายหลอกให้เราดื่ม
ถ้าเราสลบไป พวกเจ้าก็จะได้ปลดเอาทรัพย์เราเสียใช่ไหม? ชะ..ชะ..ชะทำเป็นตั้งวงเหล้า
คุยอวดว่าเหล้าของตัวดีอย่างนั้น อย่างนี้ ถ้าดีจริง ทำไมพวกเจ้าไม่ยกขึ้นดื่มล่ะ.?
เจ้าพวกนี้คิดกำเริบนัก เห็นทีจะต้องให้ถูกลงโทษเสียบ้างแล้วล่ะ”
เมื่อพวกขี้เหล้าเห็นว่า
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีจะรู้ทันอุบายของตน ทั้งยังคิดจะลงโทษอีกด้วย
ก็ตกใจเป็นทวีคูณ ทุกคนหน้าซีดเผือด มือไม้สั่น รีบเผ่นหนีไปคนละทิศละทางทันที
เมื่อท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีไล่พวกขี้เหล้าอันธพาลไปแล้ว
ก็คิดว่าน่าจะนำเรื่องนี้ไปกราบทูล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทรงทราบเพื่อขอพระพุทธองค์ทรงวินิจฉัยต่อไป
ครั้นพระบรมศาสดาทรงทราบเรื่องแล้ว
ก็ทรงระลึกชาติด้วยบุพเพนิวาสานุสติญาณแล้วตรัสว่า
“ มิใช่แต่บัดนี้เท่านั้นหรอก
ที่คนพวกนี้คิดหลอกลวงทำร้ายท่านเศรษฐี
แม้เมื่อชาติก่อนก็เคยสมคบกันหลอกลวงบัณฑิตทั้งหลายด้วยวิธีนี้มาแล้วเช่นกัน”
เนื้อหาชาดก
ในอดีตกาล
สมัยเมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติ ณ กรุงพาราณสี ในครั้งนั้น
ท่านเศรษฐีเมืองพาราณสีกำลังเดินไปเข้าเฝ้าพระราชาตามปกติ
นักเลงขี้เหล้ากลุ่มหนึ่งวางแผนจะปลดทรัพย์ท่านเศรษฐี จึงส่งพรรคพวกคนหนึ่งเข้าไปทักทายแล้วชวนไปดื่มเหล้าที่พวกตนผสมยาพิษเอาไว้
“ สวัสดีจ๊ะ.. นาย
พวกข้าได้เหล้ารสดีมาไหหนึ่ง เชิญนายมาร่วมดื่มด้วยกันกับพวกข้าด้วยเถิด”
ท่านเศรษฐีนั้น
ความจริงก็ไม่อยากสุงสิงกับพวกขี้เหล้า แต่ใจหนึ่งก็อยากรู้ว่าพวกนี้จะมีเล่ห์เหลี่ยมอะไร
จึงคิดหาทางดัดสันดานให้เข็ดหลาบ เลิกประพฤติชั่วเช่นนั้นอีก
ท่านจึงแสร้งทำอาการยินดี เดินตามขี้เหล้าคนนั้นไป
เมื่อถึงที่ที่พวกนักเลงเหล้ากลุ่มนี้ตั้งวงดื่มกัน ท่านชำเลืองดูไหเหล้า
แล้วกล่าวว่า
“ แหม..! เหล้าไหนี้น่าดื่มจริงๆ เสียดาย...
ข้ากำลังจะไปเข้าเฝ้าในหลวง จะดื่มเหล้าแล้วเข้าเฝ้าจะเป็นการไม่สมควร
เอาไว้ตอนขากลับเถอะนะ ข้าจะมาร่วมก๊งกับพวกเจ้าด้วย”
พวกนักเลงสุราคิดว่าท่านเศรษฐีหลงกลพวกตนแน่แล้วก็
ตระเตรียมจัดสุรา และกับแกล้มไว้รอต้อนรับอย่างเต็มที่ ครั้นท่านเศรษฐีกลับจากเฝ้าพระราชาผ่านมาถึง
ก็กุลีกุจอต้อนรับขับสู้อย่างแข็งขัน ฉุดไม้ฉุดมือให้ลงนั่งร่วมวงกับพวกตน
ท่านเศรษฐีนั่งลงแล้ว
ก็ชะโงกหน้ามองลงในไหเหล้าแล้วยิ้มๆ ว่า
“ สหาย... เราไปตั้งนานแล้ว
เหล้าในไหของท่านยังไม่พร่องไปเลย พวกท่านคุยว่าเหล้านี้รสเลิศนัก
ทำไมจึงใจแข็งไม่ยอมดื่มกันเลย ใจคอจะเก็บไว้สำหรับข้าเพียงคนเดียวเชียวหรือ” ว่าแล้วก็ผุดลุกขึ้นตวาดว่า
“ พวกเจ้าเอายา พิษ ใส่ลงไปด้วยใช่ไหม?!!”
พวกนักเลงสุราถึงกับสะดุ้ง
ตกตะลึงเพราะคิดไม่ถึงว่าท่านเศรษฐีจะรู้ทันพวกตน จึงต่างหลบตาไม่กล้าสู้หน้า
ท่านเศรษฐีรู้ว่าเป็นความจริงแล้วจึงกล่าวว่า
“ ไหเหล้ายังเต็มอยู่นั่นเอง
พวกเจ้ากล่าวหลอกลวง เรารู้ทันว่าเหล้านี้ไม่ดีแน่นอน”
พลางขู่สำทับขึ้นอีกว่า
“
พวกเจ้ากำเริบถึงกับคิดฆ่าข้าเชียวเรอะ? ข้าจะไปกราบทูลพระราชา ให้ส่งทหารมาจับพวกเจ้าไปลงโทษเสียให้หมด”
พวกนักเลงสุราต่างตกตะลึง ตาค้าง
บางคนก็ละล่ำละลักกล่าวกับท่านเศรษฐีว่า
“ ได้โปรดเถิดท่านเศรษฐี
พวกข้าโง่เขลา คิดแต่จะหาเงินซื้อเหล้าดื่มเท่านั้น ไม่ได้คิดฆ่าท่านเศรษฐีเลย
โปรดยกโทษให้ข้าด้วยเถิด”
“ ต่อไปข้าจะไม่ทำเช่นนี้อีกแล้ว”
“ ฮ่ะ...ฮ่ะ... ฮ่ะ...! คนยังกินเหล้าอยู่
กินแล้วก็ขาดสติ เมื่อขาดสติแล้วก็ลืมคำสัญญา ข้าไม่เชื่อ..!!!
ข้าจะไปกราบทูลพระราชา”
“ โอ๊ย..
อย่า..อย่าข้ายังไม่อยากตาย...”
“
ถ้าอย่างนั้นพวกเจ้าจะต้องเลิกดื่มเหล้า ตั้งแต่บัดนี้” ท่านเศรษฐียื่นคำขาด
“
จ๊ะ..จ๊ะฉันจะเลิกเหล้าตั้งแต่วันนี้” นักเลงสุราต่างรับปาก
ท่านเศรษฐีก็พูดสั่งสอนให้รู้ผิดชอบชั่วดี
พร้อมทั้งคาดโทษไว้อย่างหนัก แล้วจึงปล่อยตัวไป
ประชุมชาดก
เมื่อพระบรมศาสดาทรงแสดง ปุณณปาติชาดก
จบแล้วทรงประชุมชาดกว่า
พวกนักเลงสุรา ได้มาเป็นนักเลงสุราในครั้งนี้
ท่านเศรษฐี ได้มาเป็นพระองค์เอง
ข้อคิดจากชาดก
1.ถึงแม้เราจะไม่ต้องการก่อเวรกับคนพาลเลย
แต่คนพาลก็มักจ้องหาเรื่องก่อกวนเราอยู่เรื่อยๆ
อย่าคิดว่าเมื่อเป็นคนดีมีศีลธรรมแล้ว คนพาลจะไม่รบกวน โบราณจึงกล่าวเตือนไว้ว่า
“ เวรยังรู้หมด แต่มารนั้นไม่รู้สิ้น”
ทุกคนจึงควรระวังตัวไว้ไม่ประมาท
โดยทำดังนี้
- ระแวงภัยที่น่าระแวง
โดยหมั่นสังเกตเหตุการณ์ รอบๆ ตัว
ที่รู้สึกไม่ชอบมาพากล
- ระวังป้องกันภัยนั้น
ก่อนที่ภัยจะมาถึง โดยนึกถึงภาษิตที่ว่า
“ กันไว้ดีกว่าแก้
ถ้าแย่แล้วจะแก้ไม่ทัน”
2.
คนที่สามารถจะระวังป้องกันภัยไว้ล่วงหน้าได้ ต้องเป็นคนช่างสังเกต
ฉลาดในการจับพิรุธคน ซึ่งความสามารถอย่างนี้พอฝึกกันได้
เพราะโบราณกล่าวไว้อีกเหมือนกันว่า
“ ก่อนฝนจะตกต้องมีเค้า
คนที่จะทำชั่วต้องมีพิรุธ”
โดยทั่วไป
คนที่สามารถมองพิรุธคนชั่วออก หรือรู้ทันเล่ห์เหลี่ยมโจร มีอยู่ 2 ประเภทคือ
- คนที่เป็นโจรเหมือนกัน
-
คนที่ฝึกตัวเองให้เป็นคนจิตใจผ่องใสเป็นประจำ
3. คนที่ถูกหลอกลวงได้ง่าย
ส่วนมากมีพื้นนิสัย เป็นคนมักโลภ มักโกรธ มักหลง
คนโลภ มักอยากได้ของคนอื่นในทางไม่ชอบ เห็นแก่ได้
ดังเช่นปลาติดเบ็ดเพราะเห็นแก่เหยื่อ คนถูกหลอกลวงต้มตุ๋นเพราะอยากได้ของที่เราเอามาล่อ
คนเจ้าโทสะ พอถูกยั่วให้โกรธ ก็ขาดสติพิจารณา
ถูกหลอกให้ทำร้ายกันเอง เหมือนนกถูกต่อก็เพราะเจ้าโทสะ
เข้าไปตีกับนกที่เขาเอามาล่อ จึงติดกับดัก
คนมักหลง ติดในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส มักขาดเหตุผล
งมงาย โบราณจึงเตือนว่า
“จะเชื่อก็เชื่อเถิด
แต่อย่าเพิ่งไว้ใจ จะรักก็รักเถิด แต่อย่าถึงกับหลงใหล”
อธิบายศัพท์
ปุณณปาติกชาดก
(อ่านว่าปูน-นะ-ปา-ติ-กะ-ชา-ดอก)
ปุณณปาติ ภาชนะที่เต็ม
พระคาถาประจำชาดก
ตเถว
ปุณฺณปาติโย อญญายํ วตฺตเต
กถา
อาการเกน ชานามิ เนวายํ
ภทฺทกา สุรา.
ไหเหล้ายังคงเต็มอยู่นั่นเอง
พวกเจ้ากล่าวหลอกลวง
เรารู้ทันว่าเหล้านี้ไม่ดีแน่นอน.
ที่มา : อรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย เล่มที่ 36 หน้า 50-53
กราบขอบพระคุณ
หนังสือชาดกอันดับที่
6 พระธรรมเทศนาหลวงพ่อทตฺตชีโว หน้า 29-35
ภาพประกอบ
หนังสือชาดกอันดับที่ 6 พระธรรมเทศนาหลวงพ่อทตฺตชีโว หน้า 28
#อนุโมทนาบุญ ด้วยอย่างยิ่งครับ
ตอบลบสาธุ ขอกราบอนุโมทนาบุญ
ตอบลบ