วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

วานรินทชาดก...ชาดกว่าด้วยปฏิภาณในการรักษาตัวรอด


นิทานชาดกเป็นสมบัติล้ำค่าของชาวพุทธ นิทานชาดกมิใช่เรื่องที่แต่งขึ้นเพื่อสอนคุณธรรม แต่นิทานชาดกคือเรื่องในอดีตชาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงแสดงแก่พระภิกษุในโอกาสต่างๆ เพื่อเป็นแบบแผนในการทำความดี หลักธรรมที่ได้จากการรับชมรับฟังนิทานชาดกนี้ สามารถนำไปใช้ให้เป็นคุณประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของตนเองและผู้อื่น

วันนี้ขอนำเสนอวานรินทชาดก...ชาดกว่าด้วยเรื่องปฏิภาณในการรักษาตัวรอด


cr.หนังสือนิทานชาดกอันดับที่ 6

สถานที่ตรัสชาดก
เชตวันมหาวิหารนครสาวัตถี 
สาเหตุที่ตรัส
นับแต่เมื่อพระบรมศาสดาทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นต้นมา พระองค์มิได้ทรงอยู่นิ่งเฉยเสด็จจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังที่ต่างๆ พร้อมด้วยพระอรหันตสาวกซึ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกทีๆ อยู่มิได้ขาดยังความเลื่อมใสศรัทธาให้เกิดแก่มหาชนอย่างเหลือล้น ที่ตัดสินใจออกบวชตามพระพุทธองค์ก็มาก ที่ตั้งใจประพฤติธรรมบำเพ็ญเพียรในฐานะอุบาสก อุบาสิกา ก็ยิ่งมากเหลือคณานับ
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง พระเทวทัตผู้มีจิตใจริษยาพระพุทธองค์ ฝังลึกในกมลสันดานมาช้านาน  ได้พยายามก่อการบ่อนทำลายความเลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ที่มีต่อสมเด็จผู้มีพระภาค ในทุกวิถีทางอย่างไม่ลดละ



คราใดที่พระสงฆ์สาวกได้ทราบข่าวพระเทวทัตวางแผนร้าย ถึงขั้นลอบปลงพระชนม์พระพุทธองค์ ครานั้นพระภิกษุทั้งหลายก็พากันสะดุ้งหวาดกลัว วิตกกังวลราวกับชีวิตจะสิ้นเสียเอง ต่างพากันกราบทูลให้ทรงระมัดระวังพระองค์ให้จงหนัก และยังอาสาป้องกันพระพุทธองค์ ด้วยประการต่างๆ แม้ด้วยชีวิต
พระบรมศาสดาผู้ไม่เคยสะทกสะท้านต่อมรณภัย คือความตาย มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว กลับทรงปลอบโยนบรรดาพระภิกษุให้คลายวิตกกังวลอยู่เสมอๆ และไม่ทรงอนุญาตให้ผู้ใด แก้ข่าวหรือขัดขวางการกระทำของพระเทวทัตด้วยประการใดๆ ทั้งสิ้น ถึงกระนั้นก็ตามพระสงฆ์สาวกส่วนหนึ่ง ซึ่งมีความห่วงใยในพระพุทธองค์ไม่มีที่สิ้นสุด ก็ยังอดมิได้ที่จะจับกลุ่มสนทนาปรับทุกข์ ถึงเรื่องทำนองนี้อีกในโรงธรรมสภา ณ พระเชตะวันมหาวิหาร
วันหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จผ่านมาได้ยินเข้าพอดี ทรงเข้าพระทัย และซาบซึ้งในความจงรักภักดีของพระสงฆ์สาวกอยู่เสมอ จึงทรงแวะเข้าทักทายและปลอบโยนให้คลายความวิตกกังวล ทรงกล่าวยืนยันว่า  
“ ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่พระเทวทัตตะเกียกตะกายจะฆ่าเรา แม้ในกาลก่อนโน้น ก็เคยตะเกียกตะกายเช่นนี้มาแล้วเหมือนกัน แต่ก็ไม่อาจกระทำเหตุแม้เพียงความสะดุ้งให้เกิดแก่เราเลย”
ตรัสดังนี้แล้ว ก็เสด็จเลยไปประทับ ณ พุทธอาสน์ ท่ามกลางสงฆ์ทั้งหลาย ทรงระลึกชาติแต่หนหลังด้วยบุพเพนิวาสานุสติญาณ แล้วตรัสเล่า  วานรินทชาดก มีเนื้อความโดยละเอียดว่า
เนื้อหาชาดก
ในอดีตกาล นานนับอสงไขยกัป สมัยเมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติ ณ กรุงพาราณสี ในครั้งนั้นมี วานรโทนตัวหนึ่งอาศัยอยู่ในป่าใหญ่ใกล้แม่น้ำแห่งหนึ่ง เมื่อเจริญวัยเต็มที่ วานรก็มีร่างกายใหญ่โตกำยำประมาณเท่าลูกม้าย่อมๆ เรี่ยวแรงแข็งขันดังพญาช้างสาร ผิดกว่าวานรใดๆ ทั้งสิ้น ในเวลาท่องเที่ยวหากินอยู่ตามลำพังแถบชายน้ำ ก็อาศัยความเฉลียวฉลาด และความคล่องแคล่วว่องไว เสาะหาผลไม้รสเลิศนานาชนิด มาขบกินได้อย่างอิ่มหนำสำราญทุกวัน

แม่น้ำสายที่ไหลผ่านป่าแห่งนี้เป็นแม่น้ำที่กว้างใหญ่มาก มีเกาะกลางน้ำอยู่เกาะหนึ่งอุดมด้วยผลไม้นานาชนิด สัตว์บกอื่นใดในป่าไม่อาจข้ามไปกินได้ นอกจากพญาวานรตัวนี้เท่านั้น
แต่ถึงแม้พญาวานรจะมีกำลังมาก สามารถเผ่นโผนกระโจนไปได้ในระยะไกลๆ เพียงใด เมื่อต้องการไปที่เกาะกลางน้ำนั้นก็ยังไม่สามารถกระโจนข้ามไปถึงได้รวดเดียว ต้องหาที่พักเท้าแล้วกระโจนต่อไปอีกทอดหนึ่ง จึงถึงเกาะได้
พญาวานรใช้ความฉลาดรอบคอบ และความช่างสังเกตเลือกได้โขดหินแผ่นราบโขดหนึ่ง ซึ่งโผล่อยู่กลางลำน้ำระหว่างเกาะคะเนว่าได้ระยะพอดี ก็ใช้โขดหินนั้นเป็นที่พักเท้ากระโจนข้ามไปหาผลไม้รสเลิศที่เกาะนั้นกินเป็นประจำ 
ในครั้งนั้นเอง ที่แม่น้ำย่านนี้มีจระเข้ ๒ ตัวผัวเมีย อาศัยหากินอยู่ใกล้ๆ เกาะ คอยดักจับสัตว์น้อยใหญ่ที่เผลอตัวชะล่าใจลงมาเพลินกินน้ำ เล่นน้ำ ตามชายฝั่ง ไปเป็นอาหารอยู่เนืองๆ
คราวหนึ่งนางจระเข้เกิดแพ้ท้อง อารมณ์ขุ่นมัว อยากกินนั่นอยากกินนี่สารพัด เมื่อได้สิ่งนั้นมาแล้ว ก็อยากกินสิ่งโน้นเรื่อยไป วันหนึ่งขณะที่นอนหมอบอยู่ชายฝั่ง นางก็เหลือบเห็นพญาวานรกระโจนข้ามแม่น้ำไปหากินที่เกาะเช่นเคย บุพกรรมในชาติปางก่อน ได้ชักนำให้นางอยากกินหัวใจวานรขึ้นมาทันที จนอดรนทนไม่ได้เฝ้ารบเร้าอ้อนวอนกับสามีว่า



 “ พี่จ๋า น้องอยากกินหัวใจของเจ้าลิงตัวนั้นเหลือเกิน พี่จับมันมาให้น้องหน่อยเถอะ ถ้าน้องไม่ได้กินหัวใจลิง น้องคงต้องตายแน่ๆ สงสารน้องเถิดนะจ๊ะ”
 นางจระเข้เฝ้ารบเร้าอ้อนวอน ฟาดหัวฟาดหางเซ้าซื้อยู่อย่างนั้น จนจระเข้สามีทั้งรำคาญ ทั้งสงสาร ในที่สุดจึงรับปากว่าจะพยายามจับพญาวานรมาควักเอาหัวใจ มาให้นางกินให้สมใจให้ได้

จากนั้น พญาจระเข้ก็ไปหลบซุกอยู่ชายฝั่งแม่น้ำ สังเกตดูลู่ทางที่จะจับพญาวานรให้ได้ ครั้นเห็นความคล่องแคล่วว่องไวของพญาวานรแล้วก็ชักท้อใจว่า คงจับไม่ได้ง่ายๆ แต่เมื่อหวนคิดถึงอาการคร่ำครวญของนางจระเข้แล้ว ก็ไม่อาจเลิกล้ม ความตั้งใจเสียกลางคันเฝ้าตรองหาอุบายอันแยบคายต่างๆ ในที่สุดก็คิดอุบายได้อย่างหนึ่ง จึงรีบดำเนินการตามแผนนั้นทันที
ในตอนบ่ายวันรุ่งขึ้น พญาจระเข้ก็แอบคลานขึ้นไปนอนหมอบนิ่งอยู่บนแผ่นหิน  ซึ่งพญาวานรใช้เป็นที่พักเท้ากระโดดรอเวลาที่เหยื่อของตนจะกลับมาจากหากินในตอนเย็น



จระเข้ร้ายนอนนึกกระหยิ่มอยู่ในใจว่า
“ ประเดี๋ยวเถิด พอเจ้าวานรหน้าโง่มันโดดผลุงลงมาบนหลังเรา เราจะสลัดมันลงน้ำ ตามขย้ำฉีกเนื้อกินเสียให้อิ่มแปล้ทีเดียว  แล้วค่อยเอาหัวใจมันไปฝากเมียเรา” 

ดังนั้น แม้แสงแดดยามบ่ายจะร้อนแรงเพียงใด พญาจระเข้ก็อดทนหมอบนิ่งไม่กระดุกกระดิก ซุกหัวหางอย่างดี ด้วยเกรงว่าจะเป็นพิรุธให้พญาวานรสังเกตได้
พอตกเย็น พญาวานรเที่ยวเก็บกินผลไม้จนอิ่มหนำสำราญดีแล้ว ก็มุ่งหน้ากลับที่อยู่ของตน ขณะเดินเลาะอยู่ริมฝั่งแม่น้ำพลางเล็งมองไปที่โขดหินเพื่อประมาณกำลังกระโดดให้ได้ระยะพอดีด้วยความช่างสังเกตจึงเห็นว่า แผ่นหินนั้นแปลกตาไปกว่าทุกวันแล้วเริ่มตรึกตรองพิจารณาว่า

“ ทำไมหนอ วันนี้แผ่นหินจึงโผล่พ้นน้ำมากนัก และดูคล้ายกับว่าจะมีขนาดใหญ่กว่าเดิมอีกด้วย ทั้งๆ ที่น้ำก็ไม่ได้ลดลงสักนิด ชะรอย จะมีจระเข้เจ้าเล่ห์สักตัว  ขึ้นมารอดักจับเราอยู่บนแผ่นหินนั้นเสียแล้ว”
คิดสงสัยดังนี้แล้วด้วยความไม่ประมาท พญาวานรเจ้าปัญญาก็วางอุบายทดสอบพิรุธศัตรูทันที โดยแสร้งตะโกนเรียกแผ่นหิน ด้วยเสียงอันดังว่า
“ แผ่นหินเอ๊ยๆๆ!” ถึง ๓ ครั้ง
แผ่นหินไม่มีชีวิตจะตอบได้อย่างไร แต่พญาวานรก็แสร้งเรียกซ้ำๆ อยู่อย่างนั้น ด้วยสำเนียงอันแสดงความคุ้นเคยเป็นอย่างดี
พญาจระเข้ได้ยินแล้วก็เฉยอยู่เพราะลังเลใจว่า ตั้งแต่จำความได้ยังไม่เคยรู้เห็นว่าก้อนหินก้อนใดพูดได้เลย พญาวานรก็สานอุบายต่อไป โดยแสร้งพูดตัดพ้อว่า
 “ แผ่นหินเอ๊ย ... วันนี้เป็นอะไรไป เรียกแล้วจึงไม่ขานรับเหมือนทุกวัน” 
เท่านี้เอง พญาจระเข้ก็หลงกลเพราะความรู้และความช่างสังเกตตัวมีน้อย หลงคิดเอาเองว่า พญาวานรกับแผ่นหินนี้คงเคยพูดเล่นเจรจากันทุกวัน นี่เพราะตนมานอนทับเสีย แผ่นหินจึงพูดไม่ได้ เห็นทีจะต้องขานรับแทนแผ่นหินเสียแล้ว คิดดังนี้ แล้วก็พยายามดัดเสียงให้ผิดไปจากธรรมดา ขานรับพญาวานรว่า
“ ว่าไงหรือพ่อวานร...”
ในที่สุดความลับก็แตกเพราะความโง่เขลาเบาปัญญาของพญาจระเข้แท้ๆ พญาวานรนั้นถึงแม้จะเดาได้ว่า ศัตรูที่รอท่าอยู่เป็นจระเข้ แต่เพื่อความแน่ใจ จึงตะโกนย้อนถามกลับไปว่า
“ เจ้าเป็นใคร มานอนขวางอยู่อย่างนี้ต้องการอะไรหรือ” 
พญาจระเข้รู้ตัวว่าพลาดท่าตกหลุมพรางพญาวานรเข้าให้แล้วก็เสีย เจ็บใจตัวเองยิ่งนัก แต่ก็ยังไม่สิ้นหวังเสียทีเดียว เพราะรู้ว่าถึงอย่างไรๆ พญาวานรก็ต้องอาศัยแผ่นหินนี้เป็นทางผ่านกลับที่เดิม อย่างไม่มีทางเลี่ยงจึงแสร้งพูดข่มขู่แก้เก้อ เย้ยกลับไปว่า
“ จ้าวานรชะตาขาด เราเป็นจระเข้ กำลังคอยกินเนื้อหัวใจเจ้าอยู่นี้แล้วไง... "
พญาวานรรู้ตัวว่าเข้าตาจน ไม่มีทางกลับทางอื่นนอกจากทางเดิม ซึ่งไม่ว่าวันนี้หรือวันใหนๆ เจ้าจระเข้ตัวร้ายก็คงวนเวียนเฝ้าโขดหินคอยจ้องทำร้ายอยู่ ไม่ยอมเลิกละแน่นอน
จึงวางอุบายเอาตัวรอด โดยแสร้งทรุดตัวลงนั่งกอดเข่าเจ่าจุกอยู่สักครู่หนึ่ง แล้วทำเป็นตัดใจได้ ลุกขึ้นพูดกับจระเข้ด้วยท่าทีปลงตกว่า
“ จระเข้เอ๋ย... เราปลงตกแล้ว วันนี้เราจะทำบุญใหญ่สละหัวใจให้ท่าน ท่านจงอ้าปากคอยงับเรานะ เราจะกระโดดเข้าไปหาท่านเดี๋ยวนี้แหละ” 
พญาจระเข้ไม่รู้กลลวง คิดเอาจากท่าทีก็หลงเชื่อว่าพญาวานรจะยอมสละชีวิตแก่ตนจริงๆ จึงพาชื่อ อ้าปากคอยอยู่ลืมเฉลียวใจนึกถึงธรรมชาติของตัวเองเสียสนิทว่า เมื่อปากอ้าตาก็จะปิดสนิทโดยอัติโนมัติ



ส่วนพญาวานรรู้หลักธรรมชาตินี้ดี เพราะนิสัยช่างสังเกตเคยแอบดูจระเข้นอนอ้าปากเกยหาดอยู่บ่อยๆ 

ดังนั้น ทันทีที่พญาจระเข้อ้าปาก ก็รีบเผ่นลิ่วลงเหยียบหัวจระเข้ได้อย่างเหมาะเจาะ แล้วถีบตัวข้ามต่อยังฝั่งตรงข้ามในชั่วพริบตา รวดเร็วราวสายฟ้าแลบ

พญาจระเข้รู้สึกถึงแรงกระแทกนั้นก็ตกใจ หุบปาก ลืมตาขึ้นทันทีเหมือนกัน แต่ก็ช้าไป  เพราะพญาวานรนั่งอยู่บนฝั่งอีกด้านหนึ่งเสียแล้ว  มันเสียใจและอับอายที่หลงกลพญาวานร แต่แล้วก็หวนคิดอัศจรรย์ว่า
“...พญาวานรตัวนี้ มีสติปัญญาฉลาดหลักแหลม แกล้วกล้าเด็ดเดี่ยวจริงหนอ ชะรอยจะเป็นผู้ทรงคุณธรรมล้ำเลิศ อันสามารถครอบงำศัตรูได้เป็นแน่แท้” 



เมื่อคิดรำพึงดังนี้แล้วความแค้นเคืองที่เสียรู้ และความเสียใจที่เกิดขึ้นเมื่อสักครู่ก็พลันเหือดหายไปสิ้น กลับนึกรักในน้ำใจพญาวานรแล้วกล่าวสรรเสริญด้วยความจริงใจว่า

“ พญาวานรผู้เจริญ ธรรมะ 4 ประการเหล่านี้คือ สัจจะ ธรรมะ ธิติ และจาคะ มีแก่บุคคลใด เหมือนมีแก่ท่าน บุคคลนั้นย่อมพ้นศัตรูได้
ท่านมี สัจจะ คือความจริงใจ เมื่อพูดว่าอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ทำอย่างไรก็พูดอย่างนั้น ไม่โป้ปดมดเท็จ ท่านได้กระโดดเข้ามาหาเราจริงๆ ไม่ได้กล่าวเท็จเลย แต่เพราะความชักช้ามืดบอดของเราเองจึงจับท่านไม่ได้
ท่านมี ธรรมะ  คือความเป็นผู้มีวิจารณญาณสั่งสมมามากจนรู้ว่าเมื่อทำอย่างนี้แล้ว จะต้องมีผลอย่างนั้นไม่มีพลาด
ท่านมี ธิติ คือมีความขยันหมั่นเพียรไม่ท้อถอย แม้ยังมองไม่เห็นทางสำเร็จ ก็ไม่ทอดอาลัยตายอยาก ยังตั้งอยู่ในความเพียรไม่ลดละ
ท่านมี จาคะ คือกล้าเสี่ยงสละชีวิตเป็นเดิมพัน เพื่อให้งานสำเร็จ
หากใครมีคุณธรรมครบ 4 ประการดังนี้ ศัตรูแม้จะยิ่งใหญ่เพียงใด  ก็ไม่อาจครอบงำทำอันตรายได้เลย” 

 พญาจระเข้กล่าวสรรเสริญพญาวานรแล้ว ก็คลานลงน้ำดำดิ่งไปยังที่อยู่ของตน ฝ่ายพญาวานรครั้นขึ้นฝั่งได้แล้ว ตั้งแต่นั้นมาก็ท่องเที่ยวหากินอยู่ในเฉพาะป่านั้น ไม่ยอมข้ามไปที่เกาะกลางน้ำอีกเลย จนตลอดอายุขัย



ประชุมชาดก
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดง วานรินทชาดก จบแล้ว 
ทรงประชุมชาดกว่า
พญาจระเข้          ในครั้งนั้น  ได้มาเป็นพระเทวทัต
นางจระเข้                              ได้มาเป็นนางจิญจมาณวิกา
พญาวานร                              ได้มาเป็นพระองค์เอง

ข้อคิดจากชาดก
1.สิ่งที่คนเราต้องพยายามฝึกให้ได้  คือ ความช่างสังเกตุ เพราะคนช่างสังเกต มักรู้ถึงความผิดปกติได้โดยง่าย จึงสามารถป้องกันเหตุร้ายได้ทันท่วงทีเสมอ แม้จะตกอยู่ในอันตราย ก็ยังสามารถเอาตัวรอดได้
วิธีฝึกตนให้เป็นคนช่างสังเกต อาจทำได้ง่ายๆ โดยการหมั่นฝึกสมาธิเป็นประจำทุกคืนก่อนนอน เพราะจะถูกบังคับฝึกสังเกตภาวะจิตใจของตนเอง โดยอัตโนมัติ
2.การนั่งสมาธิให้ได้ผล ต้องฝึกตัวให้มีคุณธรรม 4 ประการ   ด้วย คือ สัจจะ ธรรมะ ธิติ จาคะ

“ เวลานั่ง ต้องนั่ง เป็นสัจจะ
นั่งธรรมะ ด้วยปัญญา หาเหตุผล
ธิติ นั่งเรื่อยไป ไม่ผ่อนปรน
นั่งแม้จน ทอดชีวา เป็นจาคะ” 
อธิบายคำศัพท์
วานรินทชาดก (อ่านว่าวา-นะ-ริน-ทะ-ชา-ดก) 
วานรินท์          พญาวานร, พญาลิง
พระคาถาประจำชาดก  
ยสฺเสเต  จตุโร  ธมฺมา     วานรินฺท  ยถา  ตว
สจฺจํ  ธมุโม  ธิติ  จาโค    ทิฏฺฐํ  โส  อติวตฺตติ.

ธรรม 4  ประการนี้คือ สัจจะ ธัมมะ ธิติ และจาคะ
มีแก่บุคคลใด เหมือนมีแก่ท่าน บุคคลนั้นย่อมพ้นศัตรูไปได้.


ที่มา : ขุ.ชา.อ.  2/57/58




กราบขอบพระคุณ ที่มาของบลอคที่สมบูรณ์ :
พระธรรมเทศนาโดยหลวงพ่อทัตตชีโว จากหนังสือนิทานชาดกอันดับที่ 6 หน้า67-77
ภาพประกอบ จากหนังสือนิทานชาดกอันดับที่ 6
วานรินทชาดก
ภาพประกอบ

2 ความคิดเห็น:

  1. ชาดกนี้เนื้อหาดีมากๆสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อความอยู่เป็นสุขทั้งภพชาตินี้และภพเบื้องหน้า สาธุค่ะ

    ตอบลบ
  2. สาธุ ขอกราบอนุโมทนาบุญ

    ตอบลบ

ประโยชน์ที่ได้รับ...จากการทำสมาธิ

    สมาธิก่อให้เกิดประโยชน์อย่างไรบ้าง บางคนหากไม่ได้สังเกตก็อาจไม่ทันรู้ตัวว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองนั้นเป็นผลมาจากสติปั...