วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2562

เวทัพพชาดก...ชาดกว่าด้วยโทษของการไม่รู้จักกาลเทศะ

นิทานชาดกเป็นสมบัติล้ำค่าของชาวพุทธ นิทานชาดกมิใช่เรื่องที่แต่งขึ้นเพื่อสอนคุณธรรม แต่นิทานชาดกคือเรื่องในอดีตชาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงแสดงแก่พระภิกษุในโอกาสต่างๆ เพื่อเป็นแบบแผนในการทำความดี หลักธรรมที่ได้จากการรับชมรับฟังนิทานชาดกนี้ สามารถนำไปใช้ให้เป็นคุณประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของตนเองและผู้อื่น

เวทัพพชาดก
ชาดกว่าด้วยโทษของการไม่รู้จักกาลเทศะ
สถานที่ตรัสชาดก
เชตะวันมหาวิหารนครสาวัตถี
สาเหตุที่ตรัสชาดก
ครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล มีพระภิกษุรูปหนึ่งมีนิสัยดื้อรั้นว่ายากสอนยาก จนกระทั้งเพื่อนพระภิกษุต่างเอือมระอาที่จะว่ากล่าวตักเตือนไปตามๆกัน 
ครั้นความทราบถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงทรงระลึกชาติด้วยบุพเพนิวาสานุสติญาณแล้วตรัสเตือนสติว่า
ดูก่อนภิกษุ เธอมิได้เป็นผู้ว่ายากแต่ในชาตินี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อนเธอก็เป็นผู้ว่ายากไม่เชื่อฟังคำเตือนของบัณฑิต จึงถูกฟันขาดสองท่อน แล้วยังเป็นเหตุให้คนอีกตั้งพันต้องตายตามไปด้วย


 เวทัพพพราหมณ์กำลังร่ายมนต์เวทัพพ
เวทัพพชาดก

ตรัสดังนั้นแล้ว พระพุทธองค์ทรงนำ เวทัพพชาดก มาตรัสเล่าดังต่อไปนี้

เนื้อหาชาดก
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติกรุงพาราณสี มีพราหมณ์คนหนึ่ง รู้มนต์ชื่อ เวทัพพะ ซึ่งเป็นมนต์วิเศษเมื่อถึงคราวฤกษ์ คือจังหวะที่ดวงอาทิตย์ ดวงดาว และดวงจันทร์อยู่ในทิศทางที่เหมาะสม ซึ่งในปีหนึ่งๆ จะมีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น พราหมณ์จะร่ายมนต์ แล้วแหงนดูท้องฟ้า เพชรนิลจินดาอันหาค่ามิได้ ก็จะไหลหลั่งลงมาจากท้องฟ้าราวกับสายฝนทีเดียว
อยู่มาวันหนึ่ง เวทัพพพราหมณ์มีกิจธุระต้องเดินทางไปยังแคว้นเจติ จึงพาศิษย์คนหนึ่งไปด้วย ขณะที่กำลังเดินทางอยู่ในป่านั้นมีโจรค่าไถ่ ๕๐๐ คนกรูกันเข้ามาจับพราหมณ์อาจารย์และศิษย์ไว้ หัวหน้าโจรกล่าวแก่ศิษย์ว่า


เฮ้ย!ไอ้หนุ่ม ข้าจะปล่อยเอ็งไป ให้เอ็งหาเงินมาไถ่อาจารย์ภายใน ๓ วันนี้นะโว้ย ถ้าไม่เอามาให้ละก็ ฮ่ะ...ฮ่ะ อาจารย์เอ็ง...ตาย
ท่านอาจารย์อย่าวิตกเลยนะครับ กระผมจะรีบกลับมาให้ไถ่ตัวอาจารย์ อีกอย่างหนึ่ง วันนี้เป็นวันฤกษ์ดี แต่อาจารย์อย่าได้ร่ายมนต์เป็นอันขาด มิฉะนั้นโจรมันอาจทำอันตรายอาจารย์ถึงแก่ชีวิตได้ เมื่อกล่าวเตือนอาจารย์แล้ว ศิษย์ก็ลาจากไป 
ค่ำคืนนั้นเอง เมื่อดวงจันทร์ทอแสงนวลเต็มดวงแล้ว เวทัพพพราหมณ์แหงนหน้าขึ้นมองดวงจันทร์แล้วคิดว่า  
...เวลานี้ได้ฤกษ์ที่จะให้ฝนเงินฝนทองไหลหลั่งลงมาแล้ว ถ้าหากเราร่ายมนต์ แล้วเอาเพชรนิลจินดาให้พวกโจรเสีย มันคงจะปล่อยเราไป ไม่ต้องมาถูกมัดจนปวดไปหมดทั้งตัวอย่างนี้  
คิดดังนั้นแล้ว พราหมณ์จึงร้องขึ้นว่า
นี่แน่ะ...ท่านนายโจร! ท่านจับเรามัดไว้อย่างนี้ ท่านต้องการอะไร
ถามได้!!! ก็ต้องการค่าไถ่น่ะชินายโจรตอบ
...ถ้าอย่างนั้น ท่านจงรีบแก้มัดเราโดยเร็วเถิด ดูสิ ... ดวงจันทร์เต็มดวงสว่างไสว ได้ฤกษ์แห่งมนต์เวทัพพะของเราพอดีโอกาสเช่นนี้เพิ่งจะมีในวันนี้เท่านั้น ถ้าเราได้ร่ายมนต์ในเวลานี้ ฝนแก้วก็จะไหลหลั่งลงมาเป็นเพชรนิลจินดามากมาย
หัวหน้าโจรได้ฟังก็รู้สึกสนใจ จึงรีบแก้มัดพราหมณ์ เมื่อพราหมณ์อาบน้ำชำระร่างกายเรียบร้อยแล้ว แหงนหน้าขึ้นมองท้องฟ้า
ทันใดนั้น เพชรนิลจินดาต่างๆ ก็หลั่งลงมาจากท้องฟ้ามากมายราวสายฝน พวกโจรต่างวิ่งเข้าไปเก็บกันชุลมุน
เมื่อได้เพชรนิลจินดามากมายแล้ว วันรุ่งขึ้นโจรจึงออกเดินทางต่อไป แม้พราหมณ์เองก็ต้องไปกับพวกโจรร้ายด้วย เพราะไม่อาจอยู่ตามลำพังในป่าได้ ระหว่างที่กำลังเดินทางอยู่นั้น ได้มีโจรอีกกลุ่มหนึ่งจำนวน 500 คน เหมือนกันผ่านมาพอดี เมื่อเห็นโจรกลุ่มแรกแบกทรัพย์สมบัติมา จึงคิดว่า
...ดีละ ไอ้พวกนั้นมันคงเพิ่งได้ทรัพย์มา กำลังดีใจ ไม่ทันระวังตัว เราจะฉวยโอกาสปล้นมันต่ออีกทีล่ะ
คิดแล้วก็สั่งสมุนให้กระจายกำลัง โอบล้อมโจรกลุ่มแรกไว้ทันที แล้วร้องขึ้นว่า
เฮ้ย...ไอ้โจรป่า ข้าล้อมพวกเอ็งไว้หมดแล้ว ถ้าไม่อยากตายก็จงทิ้งดาบลง แล้ววางห่อสมบัตินั้นเสีย
หัวหน้าโจรที่ถูกล้อมจึงตอบว่า
นี่แน่ะเพื่อน... สมบัติที่พวกข้าแบกกันมานี้ ได้มาจากการร่ายมนต์วิเศษของพราหมณ์คนนั้น ข้าจับเขาได้เมื่อวาน ตกค่ำเขาก็ร่ายมนต์เรียกเพชรนิลจินดาให้ ถ้าเพื่อนอยากได้ก็ให้พราหมณ์ร่ายมนต์ให้ซิ พลางส่งตัวเวทัพพพราหมณ์ ให้แล้วเดินจากไป
นายโจรกลุ่มที่สองจึงซักถามพราหมณ์
จริงรึ พราหมณ์
จริงจ๊ะ พราหมณ์ตอบอย่างละล่ำละลัก
ดีละ! ถ้าอย่างนั้น เจ้าต้องร่ายมนต์ให้ข้าบ้าง
แต่มนต์วิเศษของข้า จะร่ายได้เพียงปีละครั้งเดียวเท่านั้น ถ้าท่านต้องการก็ต้องรอปีหน้าถึงจะได้
นายโจรได้ฟังรู้สึกฉุนเฉียวขึ้นมาทันที ร้องขึ้นว่า
ชะช้า ไอ้พราหมณ์เจ้าเล่ห์ ทีพวกมันจับเจ้าไปไม่ทันข้ามคืน เจ้าก็ร่ายมนต์ให้แล้ว แต่ทีข้าจะให้รอตั้งปี พูดกวนโมโหนัก ตายเสียเถอะ
พูดไม่ทันขาดคำ ก็ตวัดดาบฟันพราหมณ์ขาดสองท่อนกลิ้งอยู่ข้างทางนั้นเอง พร้อมกันนั้นก็สั่งสมุนให้รีบตามและเข้าตีชิงทรัพย์ของโจรกลุ่มแรกทันที โจรกลุ่มที่แบกทรัพย์ไว้สู้ไม่ได้ จึงถูกฆ่าตายจนหมด
เมื่อโจรกลุ่มหลังได้ทรัพย์ของโจรกลุ่มแรกมาแล้วจึงออกเดินทางต่อไป ขณะเดินทางพวกโจรต่างเกิดความโลภ อยากได้ทรัพย์นั้นมาเป็นของตนแต่ผู้เดียว จึงแตกกันเป็น 2 พวก ต่างสู้รบกันจนพวกหนึ่งตายสิ้น แม้จะเหลือเพียงพวกเดียว 250 คน ก็ยังแตกคอกันอีกจึงตะลุมบอนฆ่าฟันกันเองตายไปตามๆกัน เหลืออยู่เพียง 2 คนเท่านั้น

โจรทั้งสองจึงช่วยกันขนทรัพย์สมบัตินั้นมาซ่อนไว้ใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ให้โจรคนหนึ่งเฝ้าไว้ ส่วนอีกคนเข้าไปหาอาหารในหมู่บ้าน
โจรที่เฝ้าทรัพย์สมบัติอยู่คิดว่า
...ถ้าไอ้เจ้านั่นมันกลับมา เราจะต้องแบ่งสมบัติให้มันตั้งครึ่งหนึ่ง จัดการกับมันเสียเลยดีกว่าจะได้หมดเรื่องหมดราว  สมบัติทั้งหมดทั้งหมดจะได้เป็นของเราคนเดียว
ฝ่ายโจรที่เข้าไปหาอาหารก็คิดเช่นเดียวกัน
...เราเอายาพิษใส่ให้เจ้านั่นมันกินดีกว่า สมบัติทั้งหมดจะได้เป็นของเราคนเดียว
คิดแล้วจึงรีบกินอาหารเสียก่อน แล้วเอายาพิษใส่อาหารที่เหลือ  เสร็จแล้วจึงนำไปให้เพื่อน ทันทีที่วางอาหารลง เพื่อนโจรก็สวนดาบออกไปทันที เมื่อฆ่าเพื่อนแล้วจึงนำศพไปทิ้งไว้ในพงหญ้า แล้วลงมือกินอาหารด้วยความกระหยิ่มใจ เมื่ออาหารเข้าปาก ยาพิษร้ายแรงก็แทรกซึมเข้าสู่ร่างกาย สิ้นใจตายทันที

เวลาล่วงไปได้ 2 วัน ศิษย์ของพราหมณ์ได้นำเงินค่าไถ่มาให้นายโจร แต่ไม่พบใครเลยครั้นเห็นเพชรนิลจินดาบางส่วนที่ตกเรี่ยราดอยู่ ก็รู้ว่าอาจารย์ไม่ฟังคำเตือนของตนเสียแล้ว เมื่อเดินต่อไปอีกสักหน่อยก็พบศพอาจารย์ถูกตัดขาดสองท่อน เขารู้สึกสลดใจยิ่งนัก และเมื่อจัดการทำเชิงตะกอนเผาศพอาจารย์แล้วก็ออกเดินทางต่อไป พบศพของโจรทั้ง 500 ตายอย่างน่าอนาจ ส่งกลิ่นคาวคละคลุ้งไปทั่วป่า ครั้นเดินต่อไปก็เห็นศพโจรอีก 250 เดินต่อไปก็พบอีก 248 ศพจึงรู้ว่ารอดไปได้ 2 คนจึงเดินทางไปเรื่อยๆก็พบสมบัติที่โจรมัดซ่อนไว้
มีโจรคนหนึ่งถูกยาพิษนอนตายทับห่อข้าวอยู่ เมื่อเดินสำรวจดูบริเวณใกล้ ๆ ก็พบศพโจรอีกศพหนึ่งถูกทิ้งไว้ในพงหญ้า จึงได้แต่รำพึงว่า
ไม่น่าเลย เพราะอาจารย์ไม่เชื่อฟังคำของเรา จึงต้องมาตายในป่าช้านี้  มิหนำซ้ำ ยังทำให้คนอีกตั้งพันพลอยตายตามไปด้วย
แล้วกล่าวเป็นคาถาว่า
ผู้ใดปรารถนาประโยชน์โดยอุบายอันไม่แยบคาย ผู้นั้นย่อมเดือดร้อน เหมือนพวกโจรชาวเจติรัฐฆ่าเวทัพพพราหมณ์ แล้วพากันถึงความพินาศหมดสิ้น ฉะนั้น  
ครั้นแล้วชายหนุ่มก็ขนเพชรนิลจินดานั้นกลับไปบ้านของตนจัดการทำบุญให้ทาน อุทิศส่วนกุศลให้เวทัพพพราหมณ์ จากนั้นเป็นต้นไปก็ทำทาน รักษาศีลไปตลอดชีวิตครั้นสิ้นชีวิตแล้ว ก็ไปบังเกิดในสวรรค์ตามกรรมดีที่ตนสร้างไว้ ส่วนอาจารย์และโจรทั้งพันนั้นต่างตกนรกเพราะความหลงและความโลภของตน  
ประชุมชาดก
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประชุมชาดกว่า
เวทัพพพราหมณ์      ได้มาเป็นพระภิกษุผู้ดื้อรั้น
ศิษย์ของพราหมณ์    ได้มาเป็นพระองค์เอง
ข้อคิดจากชาดก
1.คนดื้อดึง ถือดี ว่ายาก สอนยาก  นับว่าเป็นโทษแก่ตนเองอย่างยิ่ง จึงควรแก้ไขเสียมิฉะนั้นอาจนำความเสียใจหรือความพินาศย่อยยับ มาสู่ตนเองได้
2.ความโลภนั้น ถึงได้ทรัพย์มามากเท่าไรก็ไม่รู้จักพอ ความโลภนำคนทั้งหลาย ไม่ว่ายาจกหรือเศรษฐี ไปสู่ความหายนะมานับไม่ถ้วนแล้ว  เพราะความโลภ เป็นเหตุแห่งความพินาศและความตาย
3. ผู้ฉลาดสามารถเปลี่ยนทรัพย์ทั้งหลายให้เป็นบุญติดตัวไป ได้ดังเช่นศิษย์ของเวทัพพพราหมณ์
4. ผู้ไม่รู้จักกาลเทศะ ย่อมนำความพินาศมาส่งเพินาศมาสู่ตนเองและผู้อื่น
อธิบายศัพท์
เวทัพพชาดก (อ่านว่าเว-ทับ-พะ-ชา-ดก)
ฤกษ์     คราว หรือเวลาซึ่งเหมาะหรือเป็นมงคลสำหรับงานนั้นๆ   
พระคาถาประจำชาดก
อนุปาเยน  โย  อตฺถํ     อิจฺฉติ  โส  วิหญฺญติ
เจตา  พนํสุ  เวทพฺพํ     สพฺเพ  เต  พฺยสนมชฺฌคํ.
ผู้ใดปรารถนาประโยชน์  โดยอุบายอันไม่แยบคาย
ผู้นั้นย่อมเดือดร้อน เหมือนพวกโจรชาวเจติรัฐฆ่าเวทัพพพราหมณ์
แล้วพากันถึงความพินาศหมดสิ้นฉะนั้น.


ที่มา :สุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย 19/48






กราบขอบพระคุณที่มาของบทความ
พระธรรมเทศนาโดยหลวงพ่อทัตตชีโว ชาดกอันดับที่ 5 เรื่อง เวทัพพพราหมณ์
ภาพประกอบ หนังสือชาดกอันดับที่ เรื่อง เวทัพพพราหมณ์

2 ความคิดเห็น:

  1. สาธุ ขอกราบอนุโมทนาบุญ กับชาดกสอนใจที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง

    ตอบลบ
  2. อนุโมทนาบุญสำหรับเรื่องราวในชาดกที่ให้ข้อคิดดีๆแบบนี้ด้วยครับ

    ตอบลบ

ประโยชน์ที่ได้รับ...จากการทำสมาธิ

    สมาธิก่อให้เกิดประโยชน์อย่างไรบ้าง บางคนหากไม่ได้สังเกตก็อาจไม่ทันรู้ตัวว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองนั้นเป็นผลมาจากสติปั...