วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2562

บวช...เพื่อยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน





วันนี้ขอนำทบทวนโอวาทของหลวงพ่อทัตตชีโว  ที่ท่านเมตตาให้ต่อสามเณรเปรียญธรรม 9 รูป ที่เตรียมบวชอุทิศชีวิตไว้ในพระพุทธศาสนา ในวันวิสาขบููชาปีพุทธศักราช 2553   เพื่อเป็นแนวทางในการฝึกตัวของพระนวกะในช่วงเข้าพรรษาปีนี้ ว่าควรปฏิบัติตนเช่นไรให้สมกับเป็นบุตรพระชินสีห์ ความว่า


พวกเราทุกรูปมีโอกาสได้บวชตั้งแต่อายุยังน้อย ได้เรียนรู้เรื่องบุญ เรื่องบาปตั้งแต่ยังเล็ก ไม่ต้องไปก่อเวรยิงนกตกปลา ไม่ต้องไปเสี่ยงคุกเสี่ยงตะราง ไม่ต้องไปหานรกเข้าตัวแบบชาวโลก ก็ขอให้เราตระหนักถึงความโชคดีของเราไว้ให้มาก


หลวงพ่อทัตตชีโว


เมื่อพวกเราทุกรูปมีบุญได้บวชกันตั้งแต่อายุ ๑๒-๑๓ ปี จนกระทั่งวันนี้บวชเป็นสามเณรผ่านมา ๙-๑๐ ปีแล้ว และกำลังจะได้บวชเป็นพระภิกษุสมความปรารถนา ต้องถือว่าเป็นการบวชที่ประสบการณ์ราบรื่น ได้เรียนเต็มที่ ไม่ต้องห่วงเรื่องขบฉันไม่ต้องห่วงเรื่องขาดแคลนตำราเรียน มีอาจารย์สอนหนังสือไว้พร้อมทั้งหมด สิ่งแวดล้อมมีความเหมาะสมเหลือเกิน ที่จะสนับสนุนให้เราได้ศึกษาและฝึกฝนทั้งหยาบทั้งละเอียดให้บริสุทธิ์ผุดผ่องยิ่งๆขึ้นไป


การฝึกหยาบ คือ การเรียนด้านศาสตร์ที่เป็นความรู้ปริยัติ เช่น ภาษาบาลี เป็นต้น

การฝึกละเอียด คือ การปฏิบัติเพื่อแก้ไขปรับปรุงนิสัยตนเองให้บริสุทธิ์ผุดผ่องยิ่งๆขึ้นไป

บางคนในโลกนี้ ร่ำเรียนกันมาจนพูดได้หลายสิบภาษา  แต่ว่าขาดไปภาษาหนึ่ง นั่นคือ ภาษาคน เพราะมุ่งเอาแต่การเรียนวิชาการ แต่ยังไม่ได้แก้ไขปรับปรุงนิสัยของตน การฝึกตนจึงต้องฝึกหยาบคู่ไปกับการฝึกละเอียด มิฉะนั้น จะมีแต่ความรู้ แต่นิสัยจะยังไม่ดี

ในการเรียนของการคณะสงฆ์เรา แบ่งเป็นสายบาลีกับสายนักธรรม สาเหตุที่แบ่งเป็นสองสายแบบนี้ ก็เพราะต้องการให้พวกเรารู้ว่า เมื่อเรียนภาษาบาลีแล้ว งานที่ต้องทำ ไม่ใช่แค่การรู้ภาษาบาลี แต่ยังมีงานแก้ไขปรับปรุงตัวเองด้วย ซึ่งการแก้ไขปรับปรุงตนเองนั้น จะมีสอนอยู่ในสายนักธรรม  


ดังนั้นเป้าหมายของสองสายนี้จึงต้องไปร่วมกัน การเรียนบาลีทำให้ได้รู้จักการแปลภาษาบาลีคล่อง เพราะพุทธวจนะในการฝึกตนเก็บอยู่ในภาษาบาลี การเรียนนักธรรมเพื่อให้ได้รู้จักการแก้ไขปรับปรุงนิสัยตัวเอง เพราะการปิดนรก เปิดสวรรค์ไปนิพพานอยู่ที่การฝึกตน 
พวกเราโชคดีที่บวชตั้งแต่ยังเล็ก จนกระทั่งเติบโตได้บวชเป็นพระภิกษุ จึงต้องรู้หลักการรักษาความเป็นสมณะของตนเองให้ดีว่า บาลีมีไว้ไขภาษา นักธรรมมีไว้แก้ไขปรับปรุงตนเอง สองอย่างนี้พรากจากกันไม่ได้

ข้อได้เปรียบของการบวชตั้งแต่เล็ก คือ พวกท่านจะไม่มีขยะในใจ ไม่ต้องไปก่อเวรก่อบาป ไม่ต้องไปเฉียดคุก เฉียดตะรางเหมือนเด็กชาวโลกบางคน คนที่มาบวชตอนเป็นผู้ใหญ่ กว่าจะเอาขยะในใจที่ติดมาออกไปได้ ต้องใช้คำว่าแทบลากเลือด
สมัยหลวงพ่อเข้าวัดใหม่ๆ ยังไม่ได้บวช พอหลับตาทำสมาธิ ควายที่เคยฆ่าตอนเรียนสัตวบาล มันมาดิ้นบนตักให้เห็นเลย กว่าจะล้างขยะออกจากใจได้ ฝึกสมาธิผ่านไปเป็นสิบปี พวกท่านไม่ต้องมาผ่านเส้นทางนี้ นี่คือความมีโชคของทุกคน ที่ได้เติบโตอยู่ในเส้นทางที่บริสุทธิ์ผุดผ่องดีงาม

คุณยายอาจารย์ฯ


ใบราณบอกว่า ใจบริสุทธิ์เหมือนผ้าขาวนั้นเป็นความจริง หลวงพ่อต้องมาอาศัยคุณยายอาจารย์และหลวงพ่อครูไม่ใหญ่ช่วยโกยขยะออกจากใจอยู่หลายสิบปี จึงรอดมานั่งอยู่ได้ตรงนี้ เพราะฉะนั้น เมื่อหลวงพ่อบวชแล้วจึงปิดหนทางนรกให้ตนเองได้ พวกเราเมื่อบวชเป็นพระใหม่ก็ขอให้ฝึกตนตามหลักสูตรไป รักษาความโชคดีของเราไว้ให้ได้ อย่าไปเพิ่มขยะให้ใจตนเอง

ไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรม คนที่ไม่ได้ฝึกทั้งหยาบและละเอียดควบคู่กันมานั้น ชะตาชีวิตจะหนีไม่พ้นต้องเป็นคนขยะ เมื่อพวกเราบวชแล้ว ขอให้รักษาธรรมวินัยให้ดี อะไรที่ผิดธรรมวินัย แม้เพียงนิดเดียวอย่าได้ไปลองทำเด็ดขาด ต้องรู้จักรักษาความเป็นสมณะของเราให้ดี เผลอไปลองเข้า ไม่รักษาธรรมวินัยให้ดี เราจะกลายเป็นคนขยะทันที

เพื่อนที่เข้ามาบวชรุ่นเดียวกับเรา นั่งเรียนเก้าอี้ติดกันกับเรา ใช้โต๊ะตัวเดียวกัน ห้องเรียนเดียวกัน ใช้กุฏินอนหลังเดียวกันแต่หลุดออกไปก่อนก็มี เพราะเขาไม่ได้ระวังสิ่งเหล่านี้ ซึ่งคือชีวิตของนักบวช เราต้องยืนอยู่บนเส้นทางของธรรมวินัยให้เคร่งครัด เพราะว่าการรักษาธรรมวินัย คือการรักษาชีวิตพระของเรา คือการรักษาชีวิตของพระพุทธศาสนาเรา
ดังนั้น เมื่อพวกท่านบวชแล้ว ก็ขอให้รักษาพระธรรมวินัยให้ดี เพราะการรักษาพระธรรมวินัย คือ การรักษาชีวิตพระของพวกท่านเอง ก่อนจะไปทำหน้าที่เป็นครูสอนศีลธรรมผู้อื่น ต้องรู้จักสอนตัวเองให้อยู่ในพระธรรมวินัยให้เป็นก่อน ถ้ายังรักษาตนเองให้พ้นจากอันตรายไม่เป็น เราจะไปรักษาพระพุทธศาสนา การจะไปตอบแทนคุณญาติโยมไม่มีทางทำได้ดีต้องรู้จักวิธีที่จะรักษาความเป็นเพชรของเราไว้ไม่ให้กลายเป็นขยะก่อน จึงจะไปทำหน้าที่ครูสอนศีลธรรมได้
เมื่อเราฝึกทั้งหยาบและละเอียด คือ มีทั้งความรู้และปรับปรุงแก้ไขนิสัยตนเองได้ดีแล้ว การจะก้าวเข้าไปเป็นครูสอนศีลธรรม อย่าเพิ่งไปมองอะไรไกลเกินตัว การทำหน้าที่ของครูสอนศีลธรรมอย่างแท้จริงนั้น คือ การอบรมคนในทิศ 6 ให้เป็นคนดี

เราเรียนนักธรรมมาแล้วว่า หน้าที่พระภิกษุโดยเบื้องต้นมี 2 ประการ

หน้าที่ข้อแรก คือ ฝึกฝนอบรมตนตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด

หน้าที่ข้อที่สอง คือ สั่งสอนอบรมประชาชนในสังคมให้มีศีลธรรม


พระพุทธองค์ทรงให้หลักสำคัญไว้แล้วว่า การเผยแผ่พระพุทธศาสนา คือ การเผยแผ่ผ่านทิศ 6 พระภิกษุเรามีหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรต่อชาวโลก การที่โลกจะสงบสุขได้ เพราะเราต้องสอนให้แต่ละคนปฏิบัติหน้าที่ในทิศ 6 ให้สมบูรณ์ โดยมีพระเราเป็นต้นแบบศีลธรรม
การที่พระพุทธศาสนาจะยืนหยัดอยู่ได้ ก็ขึ้นอยู่กับว่า ทิศ 6 ของชาวพุทธแต่ละคนมีความเข้มแข็งขนาดไหน  คนที่จะต้องไปทำให้ทิศ 6 ของชาวพุทธเข้มแข็ง ก็คือ คนที่อยู่ทิศเบื้องบน ซึ่งชาวโลกยกย่องไว้ในฐานะเป็นครูสอนศีลธรรม

การเรียนในห้องเรียนวัดความรู้โดยผ่านผลการสอบ แต่การทำงานในฐานะครูสอนศีลธรรม วัดความสำเร็จโดยผ่านการสร้างเครือข่ายคนดี ในฐานะของครูสอนศีลธรรมเราจึงมองข้ามความสำคัญของใครไม่ได้เลย แม้แต่คนงานในวัด เจ้าหน้าที่ในวัด ก็มองข้ามไม่ได้ เพราะแต่ละคนคือทิศ 6 ที่อยู่รอบตัวเรา

คนที่มองข้ามคนอื่น ไม่เรียนรู้การทำหน้าที่ครูสอนศีลธรรมให้ครบทั้ง 6 ทิศ ก็ยากจะรักษาตัวเองไว้ได้ ยากจะทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาได้ เพราะคนที่จะมาช่วยกันรักษาพระพุทธศาสนา ค้ำจุนพระพุทธศาสนา ปกป้องพระพุทธศาสนาไม่ได้ตกลงมาจากท้องฟ้า แต่ว่ามาจากทิศ 6 รอบตัวเรา

ถ้าเราปล่อยให้คนในทิศ 6 รอบตัวเรา ไม่ต้องมากแค่คนใดคนหนึ่ง ตั้งตัวเป็นศัตรูกับพระพุทธศาสนา เราก็ตกอยู่ในอันตรายแล้ว การบวชของเราไม่ราบรื่นแล้ว เราอาจจะร่ำเรียนเขียนอ่านมามาก จบการศึกษามาดี แต่ถ้าทิ้งเรื่องการทำหน้าที่ครูสอนศีลธรรมประจำทิศ 6 เท่ากับสอบตกโดยไม่รู้ตัว ถือว่าทำหน้าที่เบื้องต้นของพระภิกษุไม่สมบูรณ์

ดังนั้น เมื่อเรามีโอกาสได้บวชสามเณรมาตั้งแต่อายุยังน้อย และได้บวชพระตั้งแต่อายุยังไม่มาก ก็ขอให้รู้ไว้ว่า เราโชคดีที่ไม่ต้องไปก่อบาปก่อเวรเหมือนกับชาวโลก ไม่ต้องไปหานรกใส่ตัว ไม่ต้องหาขยะมาเก็บไว้ในใจ เราก็ต้องรักษาความโชคดีของเรานี้ไว้ให้มั่นคง รักษาตัวเองให้อยู่ในพระธรรมวินัยซึ่งเป็นชีวิตพระของเรา และทุ่มเทฝึกฝนตนเองไปทั้งหยาบและละเอียด คือเป็นผู้มีทั้งความรู้และมีศีลธรรมบริสุทธิ์อยู่ในตัว เมื่อถึงคราวจะต้องทำหน้าที่ครูสอนศีลธรรม เพื่อตอบแทนคุณข้าวปลาอาหารของญาติโยม เราก็จะรักษาความเป็นพระของเราเป็น และทำหน้าที่ครูสอนศีลธรรมให้แก่ชาวโลก ด้วยการเป็นกัลยาณมิตรแนะนำการทำหน้าที่ในทิศ 6 ให้ชาวโลกได้สมบูรณ์ ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาก็จะเริ่มแผ่ขยายออกจากตัวเราเป็นศูนย์กลางนั่นเอง.


โอวาทหลวงพ่อทัตตชีโว(คุณครูไม่เล็ก)
28 พฤษภาคม พ.ศ. 2553


การบวชพระทำให้ได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาธรรมะ คือ คำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เรียนรู้ว่าอะไรดีควรทำ อะไรไม่ดีไม่ควรทำ และได้มีโอกาสฝึกนั่งสมาธิได้เรียนรู้เรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต ว่าเราเกิดมาทำไม ตายแล้วไปไหน  ฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้มีกายวาจาใจใสสะอาดบริสุทธิ์  
สามารถเป็นครูสอนศีลธรรมให้กับสาธุชนให้เป็นผู้มีคุณธรรม ดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท  เป็นผู้คิดดี พูดดี และทำดี ปลอดภัยในสังสารวัฏ การบวชพระ ให้คุณแก่ผู้บวชมากมายขนาดนี้ 
เกิดมาชาตินี้จะได้ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์มีเพศบริสุทธิ์ได้พบพระพุทธศาสนา มีศรัทธาที่จะบวชและได้ทำคุณประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน สมดังพุทธศาสนสุภาษิต ความว่า



กิจฺโฉ  พุทฺธานมุปฺปาโท

ความเกิดขึ้นแห่งท่านผู้รู้  เป็นการยาก.

ที่มา : ขุททกนิกาย  ธรรมบท(ขุ. ธ. 25/39)



เข้าพรรษาปีนี้ เรียนเชิญชายทุกท่านมาบวชเพื่อบูชาธรรมมหาปูชนียาจารย์และเพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนา บวชเพื่อตอบแทนพระคุณบิดามารดา  
#ครั้งหนึ่งในชีวิตลูกผู้ชาย ต้องบวชให้ได้อย่างน้อย 1 พรรษา
#บวชฟรีตั้งใจดีได้บุญเยอะ สนใจโทร.02-8311234






วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ปุณณปาติกชาดก...ชาดกว่าด้วยความฉลาดทันคน



นิทานชาดกเป็นสมบัติล้ำค่าของชาวพุทธ นิทานชาดกมิใช่เรื่องที่แต่งขึ้นเพื่อสอนคุณธรรม แต่นิทานชาดกคือเรื่องในอดีตชาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงแสดงแก่พระภิกษุในโอกาสต่างๆ เพื่อเป็นแบบแผนในการทำความดี หลักธรรมที่ได้จากการรับชมรับฟังนิทานชาดกนี้ สามารถนำไปใช้ให้เป็นคุณประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของตนเองและผู้อื่น

วันนี้ขอนำเสนอนิทานชาดก เรื่อง ปุณณปาติกชาดก ว่าด้วยความฉลาดทันคน...


ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีกำลังเดินผ่านนักเลงขี้เหล้ากลุ่มหนึ่ง ขณะกลับจากไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน

สถานที่ตรัสชาดก

เชตะวันมหาวิหารนครสาวัตถี

สาเหตุที่ตรัสชาดก

ครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล ณ นครสาวัตถี มีนักเลงขี้เหล้ากลุ่มหนึ่ง นั่งล้อมวงดื่มเหล้าเมาร่ำเป็นอาจิณ ไม่คิดทำการงานใดๆ ได้แต่เบียดเบียนเงินทองจากครอบครัว หรือไม่ก็หลอกลวงชาวบ้านบางครั้งก็ตัดช่องย่องเบาเขา หาเงินมาดื่มเหล้ากัน
วันหนึ่ง เงินที่มีไว้ซื้อเหล้าใกล้จะหมดลง พวกขี้เหล้าจึงหันหน้าเข้าปรับทุกข์กันว่าควรจะทำอย่างไรดี ขี้เหล้าหัวโจกคนหนึ่งก็เสนอแผนร้ายขึ้นมาว่า ให้หาอุบายมอมเหล้าอนาถบิณฑิกเศรษฐีเมื่อท่านหมดสติแล้ว จึงปลดเครื่องแต่งตัวของท่านไปขายเอาเงินมาซื้อเหล้าดื่มกัน 
เช้าวันรุ่งขึ้น พวกขี้เหล้าก็นำยาเบื่อหนูผสมลงในไหเหล้าแล้วตั้งไว้ พร้อมกับนั่งล้อมวงทำทีเป็นดื่มเหล้ากันตามปกติ รอท่าอนาถบิณฑิกเศรษฐีเดินผ่านมา
คนพวกนี้ถึงแม้จะพบเห็นท่านเศรษฐีบ่อยๆ ก็ไม่เคยรู้ว่าท่านเป็นพระโสดาบันแล้ว ย่อมมีศีล 5 มั่นคง ไม่ดื่มสุราทุกประเภทแม้จะใช้ผสมยาก็ตาม ยิ่งกว่านั้น ท่านยังมีศรัทธามั่นคงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หมคความถือตัว แต่มีความอ่อนน้อมถ่อมตนอยู่เป็นนิจ
ไม่นานนักหลังจากท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กลับจากเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินได้เดินผ่านมา ขี้เหล้าคนหนึ่งรีบกระวีกระวาดออกไปต้อนรับ พลางกล่าวเชิญชวนท่านด้วยอาการพินอบพิเทาให้ท่านร่วมวงดื่มเหล้าด้วย
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นพระโสดาบันแล้ว ย่อมมีศีลมั่นคงไม่ดื่มสุรายาเมาทุกชนิด แต่เมื่อถูกชวน ท่านก็นึกเฉลียวใจว่าต้องมีอะไรแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่เป็นแน่ เพราะคนพวกนี้ถึงแม้จะเห็นท่านบ่อยๆก็ไม่เคยทักทายปราศรัย หรือเอ่ยปากชักชวนให้ดื่มเหล้าด้วยเลยสักครั้ง ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีจึงคิดว่าเจ้าขี้เหล้าพวกนี้มีความคิดไม่ชอบมาพากล เห็นที่จะปล่อยไว้ไม่ได้เสียแล้ว จึงทำทีเดินเข้าไปใกล้ๆ วงเหล้า ชำเลืองดูกิริยาอาการของขี้เหล้าพวกนี้แล้วตะคอกขึ้นทันทีว่า
 “เจ้าพวกขี้เหล้า เจ้าเอายาเบื่อผสมเหล้า หมายจะหมายหลอกให้เราดื่ม ถ้าเราสลบไป พวกเจ้าก็จะได้ปลดเอาทรัพย์เราเสียใช่ไหม? ชะ..ชะ..ชะทำเป็นตั้งวงเหล้า คุยอวดว่าเหล้าของตัวดีอย่างนั้น อย่างนี้ ถ้าดีจริง ทำไมพวกเจ้าไม่ยกขึ้นดื่มล่ะ.? เจ้าพวกนี้คิดกำเริบนัก เห็นทีจะต้องให้ถูกลงโทษเสียบ้างแล้วล่ะ”
เมื่อพวกขี้เหล้าเห็นว่า ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีจะรู้ทันอุบายของตน ทั้งยังคิดจะลงโทษอีกด้วย ก็ตกใจเป็นทวีคูณ ทุกคนหน้าซีดเผือด มือไม้สั่น รีบเผ่นหนีไปคนละทิศละทางทันที
เมื่อท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีไล่พวกขี้เหล้าอันธพาลไปแล้ว ก็คิดว่าน่าจะนำเรื่องนี้ไปกราบทูล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทรงทราบเพื่อขอพระพุทธองค์ทรงวินิจฉัยต่อไป
ครั้นพระบรมศาสดาทรงทราบเรื่องแล้ว ก็ทรงระลึกชาติด้วยบุพเพนิวาสานุสติญาณแล้วตรัสว่า

“ มิใช่แต่บัดนี้เท่านั้นหรอก ที่คนพวกนี้คิดหลอกลวงทำร้ายท่านเศรษฐี แม้เมื่อชาติก่อนก็เคยสมคบกันหลอกลวงบัณฑิตทั้งหลายด้วยวิธีนี้มาแล้วเช่นกัน”
 แล้วทรงนำ ปุณณปาติกชาดก มาตรัสเล่าดังนี้



เนื้อหาชาดก

ในอดีตกาล สมัยเมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติ ณ กรุงพาราณสี ในครั้งนั้น ท่านเศรษฐีเมืองพาราณสีกำลังเดินไปเข้าเฝ้าพระราชาตามปกติ นักเลงขี้เหล้ากลุ่มหนึ่งวางแผนจะปลดทรัพย์ท่านเศรษฐี จึงส่งพรรคพวกคนหนึ่งเข้าไปทักทายแล้วชวนไปดื่มเหล้าที่พวกตนผสมยาพิษเอาไว้
“ สวัสดีจ๊ะ.. นาย พวกข้าได้เหล้ารสดีมาไหหนึ่ง เชิญนายมาร่วมดื่มด้วยกันกับพวกข้าด้วยเถิด”

ท่านเศรษฐีนั้น ความจริงก็ไม่อยากสุงสิงกับพวกขี้เหล้า แต่ใจหนึ่งก็อยากรู้ว่าพวกนี้จะมีเล่ห์เหลี่ยมอะไร จึงคิดหาทางดัดสันดานให้เข็ดหลาบ เลิกประพฤติชั่วเช่นนั้นอีก ท่านจึงแสร้งทำอาการยินดี เดินตามขี้เหล้าคนนั้นไป เมื่อถึงที่ที่พวกนักเลงเหล้ากลุ่มนี้ตั้งวงดื่มกัน ท่านชำเลืองดูไหเหล้า แล้วกล่าวว่า
 “ แหม..! เหล้าไหนี้น่าดื่มจริงๆ เสียดาย... ข้ากำลังจะไปเข้าเฝ้าในหลวง จะดื่มเหล้าแล้วเข้าเฝ้าจะเป็นการไม่สมควร เอาไว้ตอนขากลับเถอะนะ ข้าจะมาร่วมก๊งกับพวกเจ้าด้วย”
พวกนักเลงสุราคิดว่าท่านเศรษฐีหลงกลพวกตนแน่แล้วก็ ตระเตรียมจัดสุรา และกับแกล้มไว้รอต้อนรับอย่างเต็มที่  ครั้นท่านเศรษฐีกลับจากเฝ้าพระราชาผ่านมาถึง ก็กุลีกุจอต้อนรับขับสู้อย่างแข็งขัน ฉุดไม้ฉุดมือให้ลงนั่งร่วมวงกับพวกตน
ท่านเศรษฐีนั่งลงแล้ว ก็ชะโงกหน้ามองลงในไหเหล้าแล้วยิ้มๆ ว่า
 “ สหาย... เราไปตั้งนานแล้ว เหล้าในไหของท่านยังไม่พร่องไปเลย พวกท่านคุยว่าเหล้านี้รสเลิศนัก ทำไมจึงใจแข็งไม่ยอมดื่มกันเลย ใจคอจะเก็บไว้สำหรับข้าเพียงคนเดียวเชียวหรือ”  ว่าแล้วก็ผุดลุกขึ้นตวาดว่า
“ พวกเจ้าเอายา พิษ ใส่ลงไปด้วยใช่ไหม?!!”
พวกนักเลงสุราถึงกับสะดุ้ง ตกตะลึงเพราะคิดไม่ถึงว่าท่านเศรษฐีจะรู้ทันพวกตน จึงต่างหลบตาไม่กล้าสู้หน้า ท่านเศรษฐีรู้ว่าเป็นความจริงแล้วจึงกล่าวว่า
 “ ไหเหล้ายังเต็มอยู่นั่นเอง พวกเจ้ากล่าวหลอกลวง เรารู้ทันว่าเหล้านี้ไม่ดีแน่นอน”
พลางขู่สำทับขึ้นอีกว่า
“ พวกเจ้ากำเริบถึงกับคิดฆ่าข้าเชียวเรอะ? ข้าจะไปกราบทูลพระราชา ให้ส่งทหารมาจับพวกเจ้าไปลงโทษเสียให้หมด”
พวกนักเลงสุราต่างตกตะลึง ตาค้าง บางคนก็ละล่ำละลักกล่าวกับท่านเศรษฐีว่า
“ ได้โปรดเถิดท่านเศรษฐี พวกข้าโง่เขลา คิดแต่จะหาเงินซื้อเหล้าดื่มเท่านั้น ไม่ได้คิดฆ่าท่านเศรษฐีเลย โปรดยกโทษให้ข้าด้วยเถิด”
“ ต่อไปข้าจะไม่ทำเช่นนี้อีกแล้ว”
“ ฮ่ะ...ฮ่ะ... ฮ่ะ...! คนยังกินเหล้าอยู่ กินแล้วก็ขาดสติ เมื่อขาดสติแล้วก็ลืมคำสัญญา ข้าไม่เชื่อ..!!! ข้าจะไปกราบทูลพระราชา”
“ โอ๊ย.. อย่า..อย่าข้ายังไม่อยากตาย...”
“ ถ้าอย่างนั้นพวกเจ้าจะต้องเลิกดื่มเหล้า ตั้งแต่บัดนี้” ท่านเศรษฐียื่นคำขาด
“ จ๊ะ..จ๊ะฉันจะเลิกเหล้าตั้งแต่วันนี้” นักเลงสุราต่างรับปาก
ท่านเศรษฐีก็พูดสั่งสอนให้รู้ผิดชอบชั่วดี พร้อมทั้งคาดโทษไว้อย่างหนัก แล้วจึงปล่อยตัวไป

 ประชุมชาดก

เมื่อพระบรมศาสดาทรงแสดง ปุณณปาติชาดก จบแล้วทรงประชุมชาดกว่า
พวกนักเลงสุรา          ได้มาเป็นนักเลงสุราในครั้งนี้
ท่านเศรษฐี               ได้มาเป็นพระองค์เอง

ข้อคิดจากชาดก

1.ถึงแม้เราจะไม่ต้องการก่อเวรกับคนพาลเลย แต่คนพาลก็มักจ้องหาเรื่องก่อกวนเราอยู่เรื่อยๆ อย่าคิดว่าเมื่อเป็นคนดีมีศีลธรรมแล้ว คนพาลจะไม่รบกวน โบราณจึงกล่าวเตือนไว้ว่า
“ เวรยังรู้หมด แต่มารนั้นไม่รู้สิ้น”
ทุกคนจึงควรระวังตัวไว้ไม่ประมาท โดยทำดังนี้
- ระแวงภัยที่น่าระแวง โดยหมั่นสังเกตเหตุการณ์  รอบๆ ตัว ที่รู้สึกไม่ชอบมาพากล
- ระวังป้องกันภัยนั้น ก่อนที่ภัยจะมาถึง โดยนึกถึงภาษิตที่ว่า
“ กันไว้ดีกว่าแก้ ถ้าแย่แล้วจะแก้ไม่ทัน”

2. คนที่สามารถจะระวังป้องกันภัยไว้ล่วงหน้าได้ ต้องเป็นคนช่างสังเกต ฉลาดในการจับพิรุธคน ซึ่งความสามารถอย่างนี้พอฝึกกันได้ เพราะโบราณกล่าวไว้อีกเหมือนกันว่า
“ ก่อนฝนจะตกต้องมีเค้า คนที่จะทำชั่วต้องมีพิรุธ”
โดยทั่วไป คนที่สามารถมองพิรุธคนชั่วออก หรือรู้ทันเล่ห์เหลี่ยมโจร มีอยู่ 2 ประเภทคือ
- คนที่เป็นโจรเหมือนกัน
- คนที่ฝึกตัวเองให้เป็นคนจิตใจผ่องใสเป็นประจำ

3. คนที่ถูกหลอกลวงได้ง่าย ส่วนมากมีพื้นนิสัย เป็นคนมักโลภ มักโกรธ มักหลง
คนโลภ  มักอยากได้ของคนอื่นในทางไม่ชอบ เห็นแก่ได้ ดังเช่นปลาติดเบ็ดเพราะเห็นแก่เหยื่อ คนถูกหลอกลวงต้มตุ๋นเพราะอยากได้ของที่เราเอามาล่อ
คนเจ้าโทสะ  พอถูกยั่วให้โกรธ ก็ขาดสติพิจารณา ถูกหลอกให้ทำร้ายกันเอง เหมือนนกถูกต่อก็เพราะเจ้าโทสะ เข้าไปตีกับนกที่เขาเอามาล่อ จึงติดกับดัก
คนมักหลง  ติดในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส มักขาดเหตุผล งมงาย โบราณจึงเตือนว่า
“จะเชื่อก็เชื่อเถิด แต่อย่าเพิ่งไว้ใจ จะรักก็รักเถิด แต่อย่าถึงกับหลงใหล”

อธิบายศัพท์
ปุณณปาติกชาดก (อ่านว่าปูน-นะ-ปา-ติ-กะ-ชา-ดอก)
ปุณณปาติ             ภาชนะที่เต็ม

พระคาถาประจำชาดก

ตเถว  ปุณฺณปาติโย  อญญายํ  วตฺตเต  กถา
อาการเกน ชานามิ  เนวายํ  ภทฺทกา  สุรา.

ไหเหล้ายังคงเต็มอยู่นั่นเอง
พวกเจ้ากล่าวหลอกลวง
เรารู้ทันว่าเหล้านี้ไม่ดีแน่นอน.

ที่มา อรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย เล่มที่ 36 หน้า 50-53

กราบขอบพระคุณ
หนังสือชาดกอันดับที่ 6 พระธรรมเทศนาหลวงพ่อทตฺตชีโว หน้า 29-35
ภาพประกอบ หนังสือชาดกอันดับที่ 6 พระธรรมเทศนาหลวงพ่อทตฺตชีโว หน้า 28


วันอังคารที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2562

การฝึกสมาธิมีประโยชน์...มีผลอย่างไรต่อผู้ปฏิบัติ ?




1.ผลต่อตนเอง  

ด้านสุขภาพจิต
ส่งเสริมให้คุณภาพของใจดีขึ้น คือ ทำให้จิตใจผ่องใส สะอาด บริสุทธิ์ สงบเยือกเย็น ปลอดโปร่ง โล่ง เบา สบาย
มีความจำและสติปัญญาดีขึ้น ส่งเสริมสมรรถภาพทางใจ ทำให้คิดอะไรได้รวดเร็วถูกต้องและเลือกคิดแต่ในสิ่งที่ดีเท่านั้น

ด้านพัฒนาบุคลิกภาพ

จะเป็นผู้มีบุคลิกภาพดี 
กระฉับกระเฉง กระปรี้กระเปร่า มีความองอาจสง่าผ่าเผย มีผิวพรรณผ่องใส


มีความมั่นคงทางอารมณ์ 
หนักแน่น เยือกเย็นและเชื่อมั่นในตนเอง

มีมนุษยสัมพันธ์ดี 
วางตัวได้เหมาะสมกับกาลเทศะเป็นผู้มีเสน่ห์เพราะไม่มักโกรธ มีความเมตตากรุณาต่อบุคคลทั่วไป

ด้านชีวิตประจำวัน

ช่วยให้คลายเครียด 
เป็นเครื่องเสริมประสิทธิภาพในการทำงาน และการศึกษาเล่าเรียนการ

ช่วยเสริมให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง 
เพราะร่างกายกับจิตใจย่อมมีอิทธิพลต่อกันถ้าจิตใจเข้มแข็งย่อมเป็นภูมิต้านทานโรคไปในตัว


ด้านศีลธรรมจรรยา

ย่อมเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ 
เชื่อกฎแห่งกรรม สามารถคุ้มครองตนให้พ้นจากความชั่วทั้งหลายได้ เป็นผู้มีความประพฤติดีเนื่องจากจิตใจดี ทำให้ความประพฤติทางกายและวาจาดีตามไปด้วย

ย่อมเป็นผู้มีความมักน้อย 
สันโดษ รักสงบและมีขันติเป็นเลิศ

ย่อมเป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ 
เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว ย่อมเป็นผู้มีสัมมาคารวะและมีความอ่อนน้อมถ่อมตน


2. ผลต่อครอบครัว

ทำให้ครอบครัวมีความสงบสุข
เพราะสมาชิกในครอบครัวเห็นประโยชน์ของการประพฤติธรรม ทุกคนตั้งมั่นอยู่ในศีล ปกครองกันด้วยธรรม เด็กเคารพผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เมตตาเด็กทุกคนมีความรักใคร่สามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

ทำให้ครอบครัวมีความเจริญก้าวหน้า
เพราะสมาชิกต่างก็ทำหน้าที่ของตนโดยไม่บกพร่อง เป็นผู้มีใจคอหนักแน่น เมื่อมีปัญหาครอบครัวหรือมีอุปสรรคอันใดย่อมร่วมใจกันแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปได้


3. ผลต่อสังคมและประเทศชาติ   

ทำให้สังคมสงบสุข
ปราศจากปัญหาอาชญากรรม และปัญหาสังคมอื่นๆ เพราะปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการฆ่าการข่มขืน โจรผู้ร้าย การทุจริตคอรัปชั่น ล้วนเกิดขึ้นมาจากคนที่ขาดคุณธรรม เป็นผู้ที่มีจิตใจอ่อนแอหวั่นไหวต่ออำนาจสิ่งยั่วยวนหรือกิเลสได้ง่าย ผู้ที่ฝึกสมาธิย่อมมีจิตใจเข้มแข็ง มีคุณธรรมในใจสูง   ถ้าแต่ละคนในสังคมต่างฝึกฝนอบรมใจของตนให้หนักแน่น มั่นคงปัญหาเหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้น ส่งผลให้สังคมสงบสุขได้   

ทำให้เกิดความมีระเบียบวินัยและเกิดความประหยัด
ผู้ที่ฝึกใจให้ดีงามด้วยการทำสมาธิอยู่เสมอ ย่อมเป็นผู้รักความมีระเบียบวินัย รักความสะอาด มีความเคารพกฎหมายของบ้านเมือง ดังนั้นบ้านเมืองเราก็จะสะอาด  น่าอยู่ไม่มีคนมักง่ายทิ้งขยะลงบนพื้นถนน  จะข้ามถนน ก็เฉพาะตรงทางข้าม  เป็นต้น เป็นเหตุให้ประเทศชาติไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณ เวลา และกำลังเจ้าหน้าที่ ที่จะไปใช้สำหรับแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากความไม่มีระเบียบวินัยของประชาชน

ทำให้สังคมเจริญก้าวหน้า
เมื่อสมาชิกในสังคมมีสุขภาพจิตดี รักความเจริญก้าวหน้า มีประสิทธิภาพในการทำงานสูง ย่อมส่งผลให้สังคมเจริญก้าว หน้าตามไปด้วย และเมื่อมีกิจกรรมของส่วนรวม สมาชิกในสังคมก็ย่อมพร้อมที่จะสละความสุขส่วนตน ให้ความร่วมมือกับส่วนรวมอย่างเต็มที่ และถ้ามีผู้ไม่ประสงค์ดีต่อสังคม จะมายุแหย่ให้เกิดความแตกแยกก็จะไม่เป็นผลสำเร็จ  เพราะสมาชิกในสังคมเป็นผู้มีจิตใจหนักแน่น มีเหตุผลและเป็นผู้รักสงบ  


4.ผลต่อศาสนา

ทำให้เข้าใจพระพุทธศาสนาได้อย่างถูกต้อง
และรู้ซึ้งถึงคุณค่าของพระพุทธศาสนารวมทั้งรู้เห็นด้วยตัวเอง ว่าการฝึกสมาธิไม่ใช่เรื่องเหลวงไหล หากแต่เป็นวิธีเดียวที่จะทำให้พ้นทุกข์เข้าสู่นิพพานได้

ทำให้เกิดศรัทธาตั้งมั่นในพระรัตนตรัย
พร้อมที่จะเป็นทนายแก้ต่างให้กับพระศาสนาอันจะเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่การปฏิบัติธรรม ที่ถูกต้องให้แพร่หลายไปอย่างกว้างขวาง

เป็นการสืบอายุพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองตลอดไป
เพราะตราบใดที่พุทธศาสนิกชนยังสนใจปฏิบัติธรรมเจริญภาวนาอยู่ พระพุทธศาสนาก็จะเจริญรุ่งเรืองอยู่ตราบนั้น



จะเป็นกำลังส่งเสริมทะนุบำรุงศาสนา
โดยเมื่อเข้าใจซาบซึ้งถึงประโยชน์ของการปฏิบัติธรรมด้วยตนเอง แล้วย่อมจะชักชวนผู้อื่นให้ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาตามไปด้วย และเมื่อใดที่ทุกคนในสังคมตั้งใจปฏิบัติธรรม ทำทานรักษาศีล และเจริญภาวนา เมื่อนั้นย่อมเป็นที่หวังได้สันติสุขที่แท้จริงก็จะบังเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ดังพุทธศาสนสุภาษิตความว่า

สุขํ  สุปติ  พุทฺโธ  จ  เยน  เมตฺตา  สุภาวิตา.
ผู้เจริญเมตตาดีแล้ว  ย่อมหลับและตื่นเป็นสุข.

ที่มา :  ขุททกนิกาย ชาดก เอกนิบาต (ขุ. ชา. เอก. 27/30)




กราบขอบพระคุณบทความที่ทำให้บลอคสมบูรณ์
หนังสือนิทานชาดกอันดับที่ 5 ส่วนท้ายของบทความวิธีฝึกสมาธิเบื้องต้น
ภาพประกอบบทความ

วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2562

วิธีการฝึกสมาธิเบื้องต้น!




 การเกิดมาเป็นมนุษย์เป็นของยาก เกิดมาครบ 32 ประการ เกิดมาพบพระพุทธศาสนาและมีศรัทธาก็ยาก เกิดมาได้มาเจอครูบาอาจารย์ที่แสนประเสริฐ ผู้เป็นที่เคารพรักยิ่งอันสูงสุดของลูกศิษย์ทั่วโลก พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ ยิ่งยากกว่ายากมากๆ ท่านเมตตาแนะนำคำสอนอันประเสริฐในการ ทำให้เราดำเนินชีวิตอย่างมีสติและไม่ประมาทในการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน   ที่ทำให้ผู้ปฏิบัติ
มีปัญญาแก้ปัญหาทุกอย่างให้ผ่านไปด้วยดี คือ การทำสมาธิ นั่นเอง

สมาธิคือความสงบความมีสติสัมปชัญญะและเป็นบ่อเกิดแห่งปัญญาอันเป็นเรื่องไม่เหลือวิสัย  สามารถสร้างขึ้นได้ด้วยตนเอง เป็นสิ่งที่พระพุทธศาสนากำหนดเอาไว้เป็นข้อควรปฏิบัติ เพื่อการดำรงชีวิตทุกวันอย่างเป็นสุข ไม่ประมาท ทุกคนสามารถปฏิบัติได้ง่ายๆ ดังวิธีปฏิบัตินี้

ภาพแสดงที่ตั้งจิตทั้ง 7 ฐาน


วิธีฝึกสมาธิเบื้องต้น

1. กราบบูชาพระรัตนตรัย เป็นการเตรียมตัวเตรียมใจให้นุ่มนวลไว้เป็นเบื้องต้น แล้วสมาทานศีล 5 หรือศีล 8 เพื่อย้ำความมั่นคงในคุณธรรมของตนเอง

2. คุกเข่าหรือนั่งพับเพียบสบายๆ ระลึกถึงความดี ที่ได้กระทำแล้วในวันนี้ ในอดีต และที่ตั้งใจจะทำต่อไปในอนาคตจนราวกับว่าร่างกายทั้งหมด ประกอบขึ้นด้วยธาตุแห่งคุณงามความดีล้วนๆ  

3. นั่งขัดสมาธิ เท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้ขวาจรดหัวแม่มือซ้าย นั่งให้อยู่ในจังหวะพอดี ไม่ฝืนร่างกายมากจนเกินไป ไม่ถึงกับเกร็ง แต่อย่าให้หลังโค้งงอ หลับตาพอสบายคล้ายกับกำลังพักผ่อน ไม่บีบกล้ามเนื้อตาหรือว่า

ขมวดคิ้ว แล้วตั้งใจมั่นวางอารมณ์สบาย สร้างความรู้สึกให้พร้อมทั้งกายและใจ ว่ากำลังจะเข้าไปสู่ภาวะแห่งความสงบสบายอย่างยิ่ง  

4. นึกกำหนดนิมิต เป็น “ดวงแก้วกลมใส" ขนาดเท่าแก้วตา ใสสนิทปราศจากราคี หรือรอยตำหนิใดๆ ขาวใสเย็นตาเย็นใจ ดังประกายของดวงดาว ดวงแก้วกลมใสนี้เรียกว่าบริกรรมนิมิต  นึกสบายๆ นึกเหมือนดวงแก้วนั้นมานิ่งสนิทอยู่ ณ ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ดนึกไปภาวนาไปอย่างนุ่มนวลเป็นพุทธาสบายๆ นุสติว่า “สัมมาอะระหัง” หรือค่อยๆน้อมนึกดวงแก้ว กลมใสให้ค่อยๆ เคลื่อนเข้าสู่ศูนย์กลางกายตามแนวฐาน โดยเริ่มต้นตั้งแต่ฐานที่หนึ่งเป็นต้นไป น้อมด้วยการนึกอย่างสบายๆ ใจเย็นๆ ไปพร้อมๆ กับคำภาวนา 

อนึ่งเมื่อนิมิตดวงใส และกลมสนิท ปรากฏแล้ว ณ กลางกาย ให้วางอารมณ์สบายๆกับนิมิตนั้น จนเหมือนกับว่าดวงนิมิตเป็นส่วนหนึ่งของอารมย์ หากดวงนิมิตนั้นอันตรธานหายไป ก็ไม่ต้องนึกเสียดายให้วางอารมณ์สบายแล้วนึกนิมิตนั้นขึ้นมาใหม่แทนดวงเก่า หรือเมื่อนิมิตนั้นไปปรากฏที่อื่น ที่มิใช่ศูนย์กลางกาย ให้ค่อยๆ น้อมนิมิตเข้ามาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่มีการบังคับและเมื่อนิมิตมาหยุดสนิท ณ ศูนย์กลางกาย ให้วางสติลงไปยังจุดศูนย์กลางของดวงนิมิต ด้วยความรู้สึกคล้ายมีดวงดาวดวงเล็กๆ อีกดวงหนึ่งซ้อนอยู่ตรงกลางดวงนิมิตดวงเดิม แล้วสนใจเอาใจใส่แต่ดวงเล็กๆ ตรงกลางนั้นไปเรื่อยๆ ใจจะปรับจนหยุดได้ถูกส่วน แล้วจากนั้นทุกอย่างจะค่อยๆ ปรากฏให้เห็นได้ด้วยตนเอง เป็นภาวะของดวงกลม ที่ทั้งใสทั้งสว่างผุดซ้อนขึ้นมาจากกึ่งกลางดวงนิมิต ตรงที่เราเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ

ดวงนี้เรียกว่า “ดวงธรรม” หรือ “ดวงปฐมมรรค” อันเป็นประตูเบื้องต้นที่จะเปิดไปสู่หนทางแห่งมรรคผลนิพพาน การระลึกนึกถึงนิมิตหรือดวงปฐมมรรคสามารถทำได้ในทุกแห่งทุกที่ ทุกอิริยาบถ เพราะดวงธรรมนี้คือที่พึ่งอันเป็นที่สุดแล้วของมนุษย์

ข้อแนะนำ

คือ ต้องทำให้สม่ำเสมอเป็นประจำ ทำเรื่อยๆ ทำอย่างสบายๆ ไม่เร่ง ไม่บังคับ ทำได้แค่ไหนให้พอใจแค่นั้น อันจะเป็นเครื่องสกัดกั้นมิให้เกิดความอยากจนเกินไป จนถึงกับทำให้ใจสูญเสียความเป็นกลาง และเมื่อการปฏิบัติบังเกิดผลแล้วให้หมั่นตรึกระลึกถึงอยู่เสมอ จนกระทั่งดวงปฐมมรรคกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับลมหายใจ หรือนึกเมื่อใดเป็นเห็นได้ทุกที

อย่างนี้แล้ว ผลแห่งสมาธิจะทำให้ชีวิตดำรงอยู่บนเส้นทางแห่งความสุข ความสำเร็จ และความไม่ประมาทได้ตลอลไป ทั้งยังจะทำให้สมาธิละเอียดอ่อนก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ได้อีกด้วย


ข้อควรระวัง

1. อย่าใช้กำลัง คือ ไม่ใช้กำลังโดๆ ทั้งสิ้น เช่นไม่บีบกล้ามเนื้อตา เพื่อจะให้เห็นนิมิตเร็วๆ ไม่เกร็งแขน ไม่เกร็งกล้ามเนื้อ หน้าท้อง ไม่เกร็งตัว ฯลฯ  เพราะการใช้กำลังตรงส่วนไหนของร่างกายก็ตาม จะทำให้จิตเคลื่อนจากศูนย์กลางกายไปสู่จุดนั้น

2. อย่าอยากเห็น คือทำใจให้เป็นกลาง ประคองสติมิให้เผลอจากบริกรรมภาวนาและบริกรรมนิมิต ส่วนจะเห็นนิมิตเมื่อใดนั้น อย่ากังวล ถ้าถึงเวลาแล้วย่อมเห็นเอง การบังเกิดของดวงนิมิตนั้น อุปมาเสมือนการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์เราไม่อาจจะเร่งเวลาได้

3.อย่ากังวลถึงการกำหนดลมหายใจเข้าออก เพราะการฝึกสมาธิเจริญภาวนาวิชชาธรรมกาย อาศัยการเพ่ง “อาโลกกสิณ”  คือกสิณความสว่าง  เป็นบาทเบื้องต้น เมื่อเกิดนิมิตเป็นดวงสว่างแล้วค่อยเจริญวิปัสสนาในภายหลัง จึงไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดลมหายใจเข้าออกแต่ประการใด

4. เมื่อเลิกจากนั่งสมาธิแล้ว ให้ตั้งใจไว้ที่ศูนย์กลางกายที่เดียว ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใดก็ตาม เช่น ยืนก็ดี เดินก็ดี นอนก็ดี หรือนั่งก็ดี อย่าย้ายฐานที่ตั้งจิตไปไว้ที่อื่นเป็นอันขาด ให้ตั้งใจบริกรรมภาวนา พร้อมกับนึกถึงบริกรรมนิมิตเป็นดวงแก้วใสควบคู่กันตลอดไป

5. นิมิตต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะต้องน้อมไปตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกายทั้งหมด ถ้านิมิตที่เกิดขึ้นแล้วหายไป ก็ไม่ต้องตามหา ให้ภาวนาประคองใจต่อไปตามปกติในที่สุดเมื่อจิตสงบ นิมิตย่อมปรากฏขึ้นใหม่อีก



การฝึกสมาธิเพียงเพื่อให้เกิดความโล่งโปร่งเบา  เป็นการพักผ่อนหลังจากการปฏิบัติหน้าที่ภารกิจประจำวัน โดยไม่ปรารถนาจะทำให้ถึงที่สุดแห่งกองทุกข์ ยังคิดอยู่ว่าการอยู่กับบุตรภรรยาการมีหน้ามีตาทางโลก การท่องเที่ยวอยู่ในวัฏฏสงสาร เป็นสุขกว่าการเข้านิพพาน เสมือนทหารเกณฑ์ที่ไม่คิดจะเอาดีในราชการอีกต่อไปแล้วนั่นเอง

การฝึกสมาธิเบื้องต้นเท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็พอเป็นปัจจัยให้เกิดสติมีปัญญาในการสอนตนเองให้เป็นผู้คิดพูดกระทำแต่สิ่งที่ดีงาม  เมื่อปฏิบัติอยู่เสมอๆ ไม่ทอดทิ้ง จนสามารถได้เข้าถึงดวงปฐมมรรคแล้ว ก็ให้หมั่นประคองรักษาดวงปฐมมรรคนั้นไว้ตลอดชีวิต   เป็นอันมั่นใจได้ว่าถึงอย่างไรชาตินี้มีที่พึ่งที่ดีเป็นหลักประกันได้ว่าเมื่อถึงคราหลับตาลาโลกจะได้สู่สวรรค์ และเป้าหมายมุ่งตรงสู่ฝั่งพระนิพพานดินแดนอันเกษมศาส์นในที่สุดแห่งกองทุกข์




ดังพุทธศาสนสุภาษิตความว่า

นตฺถิ  สนฺติปรํ  สุขํ.

ความสุข (อื่น) ยิ่งกว่าความสงบ ไม่มี.

ที่มา : ขุททกนิกาย ธรรมบท (ขุ. ธ. 25/42)

กราบขอบพระคุณที่มาของบทความที่สมบูรณ์
หนังสือนิทานชาดก อันดับที่ 5 วิธีฝึกสมาธิเบื้องต้น
ภาพประกอบ หนังสือนิทานชาดก อันดับที่ 5 วิธีฝึกสมาธิเบื้องต้น

ประโยชน์ที่ได้รับ...จากการทำสมาธิ

    สมาธิก่อให้เกิดประโยชน์อย่างไรบ้าง บางคนหากไม่ได้สังเกตก็อาจไม่ทันรู้ตัวว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองนั้นเป็นผลมาจากสติปั...