ในสากลโลกและจักรวาลอันกว้างใหญ่นี้ สรรพสัตว์ล้วนต่างดำเนินชีวิตไปตามวิถีทางของตน
บางวันก็สดใสชื่นมื่น บางวันก็อึมครึมฟ้าหม่น ขณะเดียวกัน มุมเล็กๆ
มุมหนึ่งในห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้า ในขณะที่ข้าพเจ้ากำลังนั่งเขียนบทความชิ้นนี้อยู่นั้น
ก็ได้เหลียวมองออกไปนอกหน้าต่างเพื่อคลายความเมื่อยล้าของสายตา จึงพลันพบว่า
สิ่งที่ฉาบทาท้องฟ้าครามอยู่นั้น หาใช่ขอบแสงทองเหลืองอร่ามแห่งแสงรวียามบ่ายคล้อยเช่นทุกวัน หากแต่เป็นความมืดหม่นที่กำลังคืบคลานมาพร้อมกับพายุฝน
จึงได้ฉุกคิดพร้อมกับครุ่นคิดถึงเรื่องราวประการหนึ่งของมวลมนุษยชาติ
นั่นก็คือ “เราเกิดมาเพื่ออะไร ? อะไรคือจุดมุ่งหมายสูงสุดที่แท้จริงของมวลมนุษยชาติ
? และอะไรคือความมืดที่คอยบังตาธรรมหรือเป้าหมายที่แท้จริงของพวกเราอยู่ ?” ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ถึงแม้จะขับขานผ่านกาลนานไกลมาหลากหลายยุคสมัย
แต่ก็หามีผู้ใดแถลงไขให้แจ่มกระจ่างได้เลยไม่ เสมือนดั่งหมอกเมฆพายุฝนในคืนฟ้าหม่น
ที่ห่อหุ้มแสงจากดวงตะวันมิให้ทะลุผ่านชั้นบรรยากาศมายังพื้นโลกได้
จวบกระทั่งพระบรมศาสดาเอกของโลกและจักรวาลได้บังเกิดขึ้นเมื่อราว
2,500 กว่าปีที่ผ่านมา ความมืดมิดที่แนบสนิทและปกคลุมอยู่ภายในใจ
จึงพลันมลายหายไปด้วยแสงแห่งพระสัทธรรมของพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นประดุจเพชรตัดมายาที่เจาะทะลุม่านหมอกแห่งอวิชชาไป
ฉะนั้น
ดังนั้น การบังเกิดขึ้นของพระพุทธองค์และพระธรรมคำสอน
จึงนับได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งและเกิดขึ้นได้โดยยาก
สมดังพระพุทธพจน์ 2 บาทพระคาถา ที่ว่า “กิจฺฉํ สทฺธมฺมสฺสวนํ, กิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺปโท” (ขุ.ธ. (บาลี) 25/
24/ 39) แปลว่า “การที่จะได้ฟังสัทธรรมก็นับว่ายาก, การที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายจะเสด็จอุบัติขึ้นก็ยิ่งยาก”
(ขุ.ธ. (ไทย) 25/ 182 / 90) โดยเฉพาะพระธรรมเทศนาที่ชื่อว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” นั้น
นับเป็นพระสัทธรรมที่ไม่เหมือนกับหลักปฏิบัติปกติของเหล่าพราหมณ์พรตในสมัยนั้น
ซึ่งเหล่าพราหมณ์พรตแถบลุ่มแม่น้ำสินธุในยุคนั้น มักจะปฏิบัติตนบนเส้นทางที่สุดโต่ง
2 ประการ คือ กามสุขัลลิกานุโยค (การตามประกอบความเพียรคือการยินดีในกามคุณ
5 คือ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส) และอัตตกิลมถานุโยค (การตามประกอบความเพียรคือการทำตนเองให้ลำบาก
เช่น เหยียบหนามเดินลุยไฟ เป็นต้น)
แต่ปฐมเทศนาพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้น
ได้แสดงให้เห็นถึงโทษของการปฏิบัติทั้ง 2 วิธี ข้างต้น พร้อมกับได้แสดงถึงวิธีการปฏิบัติอันประเสริฐที่เรียกว่า
“มัชฌิมาปฏิปทา (ทางสายกลาง)” ซึ่งเป็นวิถีทางใหม่ที่พลันผุดขึ้นท่ามกลางหมอกควันแห่งวิกฤติศรัทธา
เป็นเสมือนวีรชนคนกล้าที่ปรากฏในยามที่บ้านเมืองระส่ำระสายและต้องการผู้นำชี้ทางสว่าง
โดยเหตุการณ์เช่นนี้ คงเป็นดังคำในภาษาจีนที่ว่า “危機 (เหวยจี)” ที่แปลว่า “วิกฤติ”
ซึ่งเป็นการผนวกรวมกันระหว่างคำว่า “危險 (เหวยเสวี่ยน) อันตราย” และ “機會 (จีฮุ้ย) โอกาส” เข้าด้วยกัน ฉะนั้น
ความนัยที่แฝงเร้นอยู่ในคำว่า “วิกฤติ” นั้น แม้ว่าจะมีอันตรายปรากฏอยู่ แต่ในขณะเดียวกันก็มักจะมีโอกาสอันเลิศซ่อนอยู่ด้วยเช่นกัน
ดังนั้น อันตรายจากวิกฤติศรัทธาในยามนั้น จึงนับเป็นโอกาสอันดีในการปรับแก้วิถีทางพรตและแถลงไขความไม่เข้าใจของปวงประชาในสมัยนั้นด้วยเช่นกัน
หากจะกล่าวถึงใจความสำคัญของพระธรรมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้น
นอกจากจะชี้ให้เห็นโทษของวิถีทางสุดโต่งทั้ง 2 สาย พร้อมชี้ให้เห็นถึงวิถีทางใหม่ที่เรียกว่า
“มัชฌิมาปฏิปทา (ทางสายกลาง)” แล้วนั้น ในพระสูตรอันสำคัญนี้ ยังกล่าวไว้อย่างชัดแจ้งไปตามลำดับว่า
สรรพสัตว์ทั้งหลายที่ยังเวียนว่ายอยู่ในทะเลอันไร้ขอบเขตคือสังสารวัฏนี้
ล้วนแล้วแต่ประสพทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น เพราะเมื่อเกิดบ่อยๆ ย่อมแก่บ่อยๆ และย่อมกระทำกาละบ่อยๆ
นอกจากนี้ ในระหว่างนั้น ก็ยังต้องประสพทั้งความโศกเศร้าอาดูร ทุกข์กาย ทุกข์ใจ
ความยึดมั่นถือมั่นและสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก อีกทั้งยังต้องพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักและไม่ได้ดั่งใจในสิ่งที่ตนปรารถนา
สิ่งเหล่านี้ (ทุกข์อริยสัจ) ล้วนเป็น “ผล” ที่เกิดจาก “เหตุ” (ทุกข์สมุทัยอริยสัจ)
คือ ตัณหา (ความอยาก) ทั้ง 3 ได้แก่ กามตัณหา (ความอยากในกามคุณ
5) ภวตัณหา (ความอยากในภพทั้ง 3
คือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ) และวิภวตัณหา (ความอยากคือการไม่อยากได้
ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น) โดยผลและเหตุทั้ง 2 ประการ
ข้างต้นนั้น
นับเนื่องในส่วนของปุถุชนที่ยังมีกิเลสในดวงตาจักษุอยู่
ซึ่งปุถุชนทั้งหลายเหล่านี้ หากมีความมุ่งมาดปรารถนาจะปรับดัดขจัดกิเลสตนจนกระทั่งสิ้นอาสวะเป็นพระอรหันต์
โดยที่สุดแม้จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ล้วนสามารถกระทำให้เกิดมีในตนได้ทั้งสิ้น
หากสามารถประกอบเหตุให้ถูกต้องครบบริบูรณ์ โดยความมุ่งมาดปรารถนาต่างๆ เหล่านี้ ก็ล้วนเป็น
“ผล” (ทุกข์นิโรธอริยสัจ แปลว่า อริยสัจคือความดับทุกข์) ที่เกิดจาก “เหตุ”
(ทุกข์นิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ แปลว่า อริยสัจคือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์) ซึ่ง
“ทุกข์นิโรธคามีนีปฏิปทาอริยสัจ” อาจสามารถเรียกได้ว่า “มัชฌิมาปฏิทา” หรือก็คือ “อริยมรรค”
ซึ่งมีหลักปฏิบัติอยู่ 8 ประการ ด้วยกัน คือ “สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา
สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ”
ซึ่งภายหลังจากจบการแสดงปฐมเทศนาพระสูตรนี้แด่ปัญจวัคคีย์ทั้ง
5 รูป ก็ได้เกิดมีพยานการตรัสรู้ธรรมของพระพุทธองค์ คือ “พระโกณฑัญญะ” ดังความตอนหนึ่งจากพระสูตรนี้ว่า
“อิติหิทํ อายสฺมโต โกณฺฑญฺญสฺส อญฺญาโกณฺฑญฺโญ เตฺวว นามํ อโหสิ” (ขุ.ปฏิ.
(บาลี) 31/ 601/ 510) แปลว่า “คำว่า “อัญญาโกณฑัญญะ” นี้ จึงได้เป็นชื่อของท่านโกณฑัญญะนั่นแล”
(ขุ.ปฏิ. (ไทย) 31/ 30/ 486) ซึ่ง คำว่า “อัญญา” ที่ใส่เพิ่มเข้ามาข้างหน้าชื่อของท่านพระโกณฑัญญะ
เป็นการแสดงสื่อถึงว่าท่านพระโกณฑัญญะได้รู้ธรรมที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบแล้วนั่นเอง
โดยสรุปแล้วนั้น
โทษของวิถีทางสุดโต่ง 2 ประการ อีกทั้งผลและเหตุ 4 ประการ หรือ “อริยสัจ
4” ที่แปลว่า “ความจริงอันประเสริฐ
4 ประการ” นั้น นับเป็นสาระสำคัญยิ่งที่ปรากฏในปฐมเทศนาพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตรตามนัยที่กล่าวมาแล้ว
ดังนั้น จึงขอเรียนเชิญท่านผู้มีบุญทุกท่าน
ซึ่งเป็นดั่งผู้กล้าที่พลันปรากฏในห้วงวิกฤตการณ์หลายๆ อย่างนี้ มาร่วมแรงประสานใจฉลองชัยส่งท้ายปีเก่าปีพุทธศักราช
2562 ต้อนรับศักราชใหม่ปีพุทธศักราช 2563 ด้วยการสวดมนต์บทธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
ณ พระมหาธรรมกายเจดีย์ พระมหาเจดีย์พระพุทธเจ้าล้านพระองค์ วัดพระธรรมกาย ให้เป็นตำนานและแบบอย่างอันดี
ที่จะส่งต่อไปยังลูกหลานและประชุมชนในภายหลัง ได้เห็นเป็นทิฏฐานุคติอันงดงามว่า “ทุกท่านคือผู้กล้าที่แท้จริง
กล้าที่จะคิดดี กล้าที่จะพูดดีและกล้าที่จะทำดี” สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่มาในมหาสารชาดกว่า
“เมื่อถึงยามคับขันประชาชนต้องการผู้กล้าหาญ...” (ขุ.ชา. (ไทย) 27/ 92/ 37)
จึงขอเชิญชวนและอนุโมทนาบุญกับผู้มีบุญทุกๆ
ท่านมาสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตรให้ได้ 2,000,000,000 จบ ณ วัดพระธรรมกาย
ส่งท้ายปีเก่าปีพุทธศักราช 2562 ต้อนรับปีใหม่ปีพุทธศักราช 2563
เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชาและเพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว
รักและปรารถนาดีกับใครชวนกันมาสวดนะคะ
ขอกราบอนุโมทนาบุญยอดกัลยาณมิตรลูกพระธัมมฯทั่วโลกมา ณ โอกาสนี้ สาธุค่ะ
ภาพประกอบ
กราบขอบพระคุณ
นักเขียนอิสระ : 釋清勝 (ซรื้อชิงเซิ้ง) แปลว่า “ผู้มีชัยชนะด้วยความสงบเยือกเย็น”
กราบอนุโมทนาบุญกับผู้มีบุญทุกท่าน
ตอบลบที่มีส่วนร่วมในมหากุศล บุญใหญ่นี้ครับ
สาธุครับ
มาร่วมกันสวดมนต์บทธัมมจักกัปปวัตตนสูตรฉลองวันขึ้นปีใหม่ด้วยกันนะคะ สาธุ ขอกราบอนุโมทนาบุญ
ตอบลบสาธุ สาธุ สาธุ
ตอบลบ