วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ชีวิตที่จะประสบความสำเร็จ...ทั้งชาตินี้ชาติหน้าเราควรปฏิบัติตนเช่นไร ?





“สุขจากการแสวงหาความสำเร็จ” เป็นเรื่องน่าคิดว่าเราควรจะมุ่งตรงไปที่ความสุข หรือมุ่งตรงไปที่ความสำเร็จดี บางคนบอกว่ามุ่งไปที่ความสำเร็จสิ สำเร็จแล้ว ความสุขจะตามมาเอง แต่บางคนบอกว่า บางทีมันไม่สำเร็จสักที หวังไว้ว่าอนาคตจะรวยให้ได้ แต่ทำงานมา 20 ปี แล้วก็ไม่รวยสักที อาจจะตายก่อนที่จะมีความสุขก็ได้ดังนั้น มุ่งไปที่ความสุขก่อนดีกว่าไหม...แล้ววิธีคิดแบบใดถูกต้องกันแน่

สิ่งที่ทุกคนปรารถนาอันสูงสุดคือ ความสุข

ต่างคนต่างมีเหตุผลของตนเอง คนที่มุ่งไปยังความสำเร็จกล่าวว่า ถ้าไปมุ่งหมายแต่ความสุขก็จะไม่สำเร็จสักที เพราะพอทำงานหนักก็เหนื่อยพอไม่สุขก็ไม่เอางานหนัก หรือเด็กนักเรียนอ่านหนังสือค้นคว้ามาก ๆ เข้าก็บอกว่าเครียด ไม่สุขขอไปเล่นเกมไปพักผ่อนเที่ยวเตร็ดเตร่ก่อนดีกว่ามีความสุขกว่า ก็เลยไม่ประสบความสำเร็จในการเรียน ไม่ประสบความสำเร็จในการทำงานสักที สุดท้ายก็ไม่มีความสุขอยู่ดี แล้วเราคิดว่าแนวคิดใดน่าจะเป็นแนวคิดที่ถูกต้องที่สุด

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “บุคคลใดไม่คำนึงถึงหนาวร้อน อดทนให้เหมือนหญ้า กระทำกิจที่ควรทำด้วยเรี่ยวแรงของลูกผู้ชาย บุคคลผู้นั้นย่อมไม่เสื่อมจากสุข”

ไม่ว่าร้อนหรือหนาวก็สู้  ใครจะเหยียบย่ำอย่างไรก็อดทนยืนอยู่ได้ ยังคงงอกงามเขียวขจีเหมือนหญ้าแพรก ไม่ใช่เจอใครต่อว่าก็น้อยเนื้อต่ำใจ น้ำตาร่วง เลิกล้มความตั้งใจง่ายๆ เพียงเพราะน้อยใจคำคน และสิ่งสำคัญคือกระทำกิจที่ควรทำด้วยเรี่ยวแรงของลูกผู้ชาย บุคคลผู้นั้นย่อมไม่เสื่อมจากสุข

อดทนให้เหมือนหญ้า ย่อมไม่เสื่อมจากความสุขแน่นอน


เหล่านี้แสดงว่าพระองค์ให้มุ่งว่าอะไรคือสิ่งที่เราควรทำ ก็ให้ทำสิ่งนั้นเต็มที่โดยไม่กลัวหนาวไม่กลัวร้อน ไม่กลัวความกระทบกระทั่งให้เจ็บใจ แล้วเดินหน้าทำสิ่งที่ควรทำ ด้วยเรี่ยวแรงของลูกผู้ชาย บุคคลผู้นั้นย่อมประสบความสุขและความสำเร็จ

อีกบทหนึ่งพระองค์ตรัสไว้ว่า มนุษย์ควรจะต้องบำเพ็ญประโยชน์ให้ครบ 3 ประการ คือ “ประโยชน์ชาตินี้” ได้แก่ ตั้งเนื้อตั้งตัวตั้งฐานะให้ได้ นกตัวเล็ก ๆ ยังอุตส่าห์สร้างรังอยู่ไว้คุ้มแดดคุ้มฝน หนูตัวเล็ก ๆ ก็ยังอุตส่าห์ขุดรูอยู่อาศัย เราเกิดมาเป็นคนทั้งทีก็ต้องเอาดีให้ได้ ต้องสร้างฐานะสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว มีอาชีพการงานที่มั่นคงเป็นหลักแหล่งอย่างนี้ เป็นต้น


ประโยชน์ชาตินี้ ตั้งใจสร้างเนื้อสร้างตัว


ประโยชน์ระดับสองคือ “ประโยชน์ชาติหน้า” ได้แก่ สร้างบุญสร้างกุศล พอละจากโลกนี้ไปแล้วเราจะได้ไปสู่สุคติโลกสวรรค์ ใครที่ชาตินี้ตั้งฐานะได้แต่ไม่สร้างบุญสร้างกุศลเลย ทำแต่บาป โกงกินเขา ทุจริตเขา เอาเปรียบเบียดเบียนเขา โดยอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมาย อาศัยความรู้ที่เหนือกว่า ตนเองได้แต่คนอื่นเดือดร้อนอย่างนี้ผิดหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ถึงแม้จะไม่ผิดกฎหมายแต่จะเป็นบาปติดตัว พอละโลกแล้วตกนรกเลย สุขไหม...มันไม่สุข ไม่คุ้มกัน

ถ้าจะให้สุขจริงต้องทำ “ประโยชน์อย่างยิ่ง” ด้วย กระทำประโยชน์ชาติหน้า ทำให้เรามั่นใจได้ว่าตายแล้วเราไปสุคติโลกสวรรค์แน่นอน แต่ควรบำเพ็ญประโยชน์อย่างยิ่ง ได้แก่ “ตั้งใจปฏิบัติธรรม” สวดมนต์ นั่งสมาธิเป็นประจำสม่ำเสมอ จะทำให้กิเลสในตัวเราเบาบางลง ได้เข้าใกล้หนทางพระนิพพาน


สุขจริงต้องทำประโยชน์อย่างยิ่ง "ตั้งใจปฏิบัติธรรม"


ถ้าเราจับหลักใหญ่ ๆ นี้ได้ เราก็จะมองเห็นช่องชัดเจนเลยว่าการแสวงหาความสุขจากความสำเร็จในการงาน หรือในชีวิตของเรานั้นต้องปฏิบัติอย่างไร ที่แน่ ๆ คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เราตามใจตนเอง คือตามใจกิเลส ออกไปเที่ยวเล่นกินเหล้าเสพยาก็บอกว่าสุขดี ความจริงเสพยาไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง แต่เป็นความสนุกเพลิดเพลินไปชั่วขณะ แล้วจะออกผลเป็นความทุกข์ในภายหลัง

เพราะฉะนั้น ใครจะมาอ้างว่าตนกำลังแสวงหาความสุข สุขนิยมเป็นฮิปปีดีกว่า นั่นมีความสุขผิดหลักแล้ว เราต้องสำรวจว่าอะไรคือสิ่งที่เราควรทำ และสิ่งที่ควรทำนั้นเป็นประโยชน์ต่ออาชีพการงาน การตั้งฐานะอย่างสุจริตชอบธรรมในชาตินี้ แล้วมีน้ำใจเอื้อเฟื้อช่วยเหลือคนอื่น ช่วยงานสาธารณะกุศล การสงเคราะห์โลก ก็เป็นบุญกุศลอย่างหนึ่ง แล้วสวดมนต์นั่งสมาธิแบ่งเวลาปฏิบัติธรรมโดยทำอย่างถูกหลัก

อะไรที่ผิดศีลธรรมเราไม่ทำ แม้ไม่ผิดกฎหมายก็ไม่ทำ มาถึงตรงนี้อยากจะฝากข้อคิดเป็นหลักการ “ทฤษฎีกระปุกทราย” ไว้ด้วยว่า ถ้าเรามีหินก้อนโตเท่ากำปั้นสักสามสี่ก้อน มีก้อนกรวดขนาดเล็กเท่านิ้วโป้งสักสามสิบก้อน และมีทรายอีกหนึ่งถุงนำมาใส่กระปุก ถ้าเรานำทรายใส่ลงไปก่อน ทรายเหล่านั้นก็จะไปกองอยู่ก้นกระปุก แล้วนำก้อนกรวดขนาดเท่านิ้วโป้งใส่ตามลงไป กรวดก็จะไปกองอยู่บนทราย แล้วพอเราจะนำหินก้อนใหญ่อีกสามสี่ก้อนใส่ตามลงไป ปรากฏว่าใส่ไม่ได้แล้ว มันเต็มล้นกระปุกแล้ว


ทฤษฎีกระปุกทราย


แต่ถ้าเปลี่ยนลำดับใหม่ด้วยการนำหินก้อนโต ๆ ใส่ลงไปก่อนแล้วจึงใส่ตามลงไปด้วยก้อนกรวด กรวดก็จะลงไปแทรกตามช่องว่างของหิน พอเราเททรายลงไปอีก ทรายก็จะเข้าไปแทรกตามช่องว่างที่เหลือเล็กลงจนเต็ม ดังนั้น วิธีนี้ทำให้เราสามารถนำหินก้อนโต ก้อนกรวด และทรายทั้งหมดใส่ลงไปในกระปุกได้หมดอย่างสบาย ๆ

เปรียบเทียบกับชีวิตจริงของคน ถ้าเรารู้จักจัดลำดับความสำคัญว่างานอะไรคืองานที่สำคัญที่สุดต่อชีวิตเรา 3 อย่าง ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว คือสำคัญต่อประโยชน์ในชาตินี้ ได้แก่ การแสวงหาความรู้ต่าง ๆ ฝึกพัฒนาทักษะต่าง ๆ ลำดับต่อมาคือ สำคัญต่อประโยชน์ชาติหน้าด้วยการหมั่นสร้างบุญกุศลและสำคัญต่อประโยชน์อย่างยิ่งด้วยสวดมนต์ภาวนา

พอเราเอางานสำคัญ ๆ ใส่ลงไปก่อนในชีวิตแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ แต่ละเดือน เสร็จแล้วงานที่สำคัญรองลงมาเราก็จับแทรกลงไปในช่องว่างที่ยังพอใส่ได้ ส่วนงานเล็ก ๆ น้อย ๆ กระจุกกระจิก ที่ไม่ได้เป็นสาระอะไรมากเท่าใดแต่เราอยากทำ ก็ไม่จำเป็นต้องปฏิเสธทั้งหมด เราสามารถทำได้โดยใส่ลงไปเป็นลำดับสุดท้าย

หากเราอยากจะไปดูหนังฟังเพลงหรือไปท่องเที่ยวบ้างก็ทำได้ ก็จับแทรกลงไปอีกตามช่องว่างในชีวิตที่พอมีอยู่ ทำอย่างนี้จะพบว่าเราสามารถทำประโยชน์หลักเหมือนหินก้อนโต ๆ ได้ครบหมด แล้วงานย่อยที่เป็นประโยชน์รองลงมาก็สามารถทำได้ครบ ส่วนงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน

การจัดลำดับความสำคัญของงาน "ทฤษฎีกระปุกทราย"



คนที่ยังจัดลำดับความสำคัญผิด มุ่งให้ความสำคัญกับงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อนตามความอยากของตนเอง เลือกที่จะใส่งานที่พึงพอใจลงไปก่อน อย่างเล่นเกมคอมพิวเตอร์ก่อน อ่านหนังสือนิยายก่อน ดูละครก่อน ไปเที่ยวเล่นก่อน ปรากฎว่าเวลาที่จะทำกิจหลัก ๆ ไม่พอ ใส่ประโยชน์ในชีวิตไม่ลงเพราะมันเต็มไปหมด


การจัดลำดับความสำคัญของงานที่มากทำก่อนแล้วสำคัญลองลงมาตามหลังตาม "ทฤษฎีกระปุกทราย"



การจัดลำดับความสำคัญของงานในชีวิตจึงสำคัญมาก อะไรสำคัญใส่ก่อน แล้วตามด้วยงานที่สำคัญรองลงมา ลดหลั่นกันไปตามลำดับ แล้วเราจะพบว่าตนเองเป็นคนหนึ่งที่สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้ทั้งชาตินี้ชาติหน้า แล้วใกล้ต่อหนทางพระนิพพานด้วย รวมทั้งยังมีความสุข ความสบาย ความอิ่มใจในทุกวัน แม้งานจะหนักก็ยังยิ้มได้ตลอด


ทำความหนักและเหนื่อยอย่างมีความสุข


เรียกว่าเหนื่อยอย่างมีความสุข ทำงาน
หนักอย่างมีความสุข และเป็นความสุขที่แท้จริง






กราบขอบพระคุณ :
หนังสือ PERFECTIONIST : เรื่องสุขจากการแสวงหา ความสำเร็จ หน้า 96-115 พร้อมภาพประกอบ

สร้างความสำเร็จและความสุขไปพร้อม ๆ กันต้องทำอย่างไร?




วันนี้ขอนำพระธรรมเทศนาของพระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณที่มีสาระและเนื้อหาที่มีประโยชน์และควรแก่การศึกษา ว่าเราจะสร้างความสำเร็จและความสุขไปพร้อมๆกันจะต้องทำอย่างไรมาให้ยอดกัลยาณมิตรทุกท่านได้ใช้เป็นแนวทางในการประกอบธุรกิจให้ประสบผลสำเร็จและมีความสุขควบคู่กันไปแบบง่ายๆ ว่าเราควรจะวางตัวและวางใจอย่างไร ติดตามอ่านได้เลยค่ะ


เส้นทางมุ่งไปสู่ความสุขและความสำเร็จ ข้อแรกคือ “ไม่โฟกัสที่เงินเพียงอย่างเดียว” จริงอยู่ว่าเงินสามารถแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งของเพื่อยกระดับสภาพความเป็นอยู่ของเราได้ แต่ว่าทุกวันนี้มีคนจำนวนไม่น้อยที่มุ่งไปยังเรื่องของเงินเพียงอย่างเดียว จนอาจจะลืมไปว่ายังมีมุมอื่น ๆ ของชีวิตที่สร้างความสุขได้โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจเงิน ทำให้เขาพลาดโอกาสสำคัญในชีวิตไป
สุขที่เกิดจากประสบผลสำเร็จในการประกอบธุรกิจ


เพราะฉะนั้น เราจึงควรทำงานและสร้างความสุขในชีวิตไปพร้อมกัน คือทำงานเพื่อให้ได้เงินมา แต่ก็อย่าลืมว่ายังมีความสำเร็จอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับเงินอยู่ด้วย เช่น   “การเป็นผู้ให้” บางคนเลือกที่จะให้ความรู้แก่คนรอบข้าง บางคนเลือกที่จะเขียนหนังสือดี ๆ ขึ้นมาสักเล่มเพื่อแบ่งปัน ถ่ายทอดสิ่งที่ตนเองรู้ ส่งต่อไปยังผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนเป็นเงินทอง แต่เป็นความภาคภูมิใจและความสุขใจ เหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้จิตใจชุ่มชื่นเบิกบานได้โดยที่ไม่ข้องเกี่ยวกับเงินทอง

วิธีการแสวงหาความสุขมีมากมาย เราไม่ควรผูกเงื่อนไขความสุขไว้กับสิ่งภายนอกตัว เพราะสิ่งเหล่านั้นเราควบคุมได้ยาก แต่ให้สร้างความสุขจากการฝึกใจของเราเอง ใจที่เป็นผู้ให้ มีเมตตากรุณาต่อผู้คนรอบตัว มีน้ำใจ มองโลกในแง่ดี มองคนในแง่บวก รู้จักฝึกใจให้สงบ รู้จักพอใจกับสิ่งที่ตัวมีตัวเป็น เป็นต้น

สุขที่เกิดจากใจที่จับแง่คิดดี


วิธีการต่อไปคือ “พัฒนาเพิ่มพูนทักษะให้ตนเอง” คนที่มีทักษะมากกว่าผู้อื่นย่อมมีโอกาสแสวงหาความสำเร็จได้ง่าย เพราะฉะนั้น ศาสตร์ความรู้ต่าง ๆ เมื่อเราศึกษาเรียนรู้แล้วนำมาผสมผสานกันจะทำให้เราทำงานได้ดียิ่งขึ้น

ความเป็นผู้มีใจพัฒนาแสวงหาเพิ่มเติมทักษะที่ดีให้แก่ตนเอง


นอกจากนี้ความรู้ทักษะต่าง ๆ ยังเพิ่มความมั่นใจให้กับเราได้  และยังเพิ่มความมั่นใจให้กับคนรอบข้างอีกด้วย ทำให้เกิดความก้าวหน้าในชีวิต เกิดความสุข เกิดจุดดีมีจุดแข็งหรือจุดเด่นในชีวิต เพราะฉะนั้น เราจึงหยุดเฉยอยู่กับที่ไม่ได้ ต้องพัฒนาตนเองด้วยการเพิ่มพูนความรู้และศักยภาพในตนเองให้มากขึ้นเสมอ

โลกปัจจุบันกำลังเปลี่ยนเป็นยุค 4.0 เข้าไปสู่ระบบอินเตอร์เน็ท


โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่โลกกำลังเปลี่ยนเป็นยุค 4.0 เข้าไปสู่ระบบ Internet of Things (lot) ถ้าเรามีความรู้ในสิ่งเหล่านี้ ก็จะมีโอกาสมากกว่าคนอื่น ได้เข้าไปมีส่วนในการตลาดแนวใหม่ เข้าถึงผู้บริโภคแนวใหม่ ที่สื่อแบบเก่าๆ ใช้ไม่ได้อีกต่อไป ซึ่งเป็นการพัฒนาทักษะที่เป็นประโยชน์ต่องาน ยิ่งเรามีทักษะที่ทำงานง่ายขึ้นมากเท่าไร ก็จะมีคนมาใช้สิ่งที่เราสร้างสรรค์มากขึ้นเท่านั้น และนั่นจะนำความสำเร็จมาสู่ตัวเรา

พัฒนาความสัมพันธ์และมิตรภาพที่ดีให้เกิดขึ้นอยู่เสมอ


ข้อต่อไปคือ “พัฒนาความสัมพันธ์และมิตรภาพที่ดีให้เกิดขึ้นอยู่เสมอ” บางคนจดจ่ออยู่แต่ความสำเร็จของตัวตน จนบางทีเผลอไปลดสัมพันธภาพกับผู้อื่น ทำให้ชีวิตโดดเดี่ยว ขาดความสุข เนื่องจากสัมพันธภาพที่ไม่ดีทั้งกับครอบครัวและผู้ร่วมงาน บางครั้งก็อาจสร้างศัตรูคู่แข่งในการทำงาน ที่เกิดจากการแข่งขันกันเพื่อความสำเร็จ

หากเรามุ่งมั่นกับความสำเร็จมากเกินไป จนละเลยผู้คนรอบตัว เราประสบความสำเร็จแล้ว กลับหาคนที่จะมาใส่ใจตัวเรามาร่วมยินดีกับเราด้วยแทบไม่ได้ ชีวิตคงจะโดดเดี่ยวไม่มีความสุขความสำเร็จที่ได้มาก็ไม่มีความหมายเท่าที่ควร

งานวิจัยของเด็กนร.ฮาร์วาร์ด 2 กลุ่ม ที่ใช้เวลายาวนานถึง 75 ปี


มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งของฮาร์วาร์ด (Harvard) ที่ใช้เวลายาวนานถึง 75 ปี เพื่อศึกษาดูว่าอะไรทำให้คนเรามีชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งเรื่องสุขภาพ การงาน และชีวิตส่วนตัว โดยแบ่งการติดตามผล
ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือเด็กนักเรียนฮาร์วาร์ดที่อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีการศึกษาดี มีฐานะครอบครัวดี กับกลุ่มที่สองเป็นคนที่ทำงานในเรือเดินทะเล ย้ายที่อยู่อาศัยไปเรื่อย ๆ ไม่มีหลักแหล่ง มีฐานะทางการเงินและการศึกษาด้อยกว่ากลุ่มแรกมาก

การวิจัยนี้ใช้เวลายาวนานถึง 75 ปี โดยติดตามชีวิตเด็กทั้งสองกลุ่มจนกระทั่งพวกเขามีอายุมาก ได้บทสรุปคือคนที่มีชีวิตดีมีสุขภาพดี มีจิตใจดีและมีชีวิตที่สงบสุข มีลักษณะตรงกันอย่างหนึ่ง คือมีความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างที่ดี โดยแสดงให้เห็นว่าความสุขในชีวิตไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับฐานะทางเศรษฐกิจ ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องเดียว คือสัมพันธภาพที่ดีกับบุคคลรอบข้าง

รู้อย่างนี้แล้วเราควรหันกลับไปพัฒนาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง โดยเฉพาะคนใกล้ตัวในครอบครัวของเรา เพราะพวกเขามีผลต่อความสุขของเรามากที่สุด

วิธีการต่อไปคือ “ค้นหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ด้วยการออกเดินทาง” เพราะการออกเดินทางเป็นการพาตนเองออกจากกิจวัตรเดิม ๆ ที่เราทำอยู่ ทำให้ความเครียดลดลงตั้งแต่เราก้าวเท้าออกจากบ้านเลยทีเดียว

การออกเดินทางท่องเที่ยวนั้นช่วยเพิ่มพูนสิ่งแปลกใหม่ให้แก่ชีวิต ทำให้เราได้พบปะผู้คนใหม่ ๆ ได้พบเห็นสถานที่ใหม่ ๆ และเจอกับสิ่งต่าง ๆ มากมายที่แตกต่างออกไป ได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ ได้เปิดหูเปิดตา เปิดโลกทัศน์ แล้วสามารถนำไอเดียใหม่ ๆ กลับมาต่อ
ยอดในการทำงานได้อีกด้วย ทำให้เรามีทั้งความสุขและประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น เมื่อกลับมาแล้วเราก็จะมีพลังงานมากขึ้นโดยอัตโนมัติ เรียกว่าได้ทั้งกำลังใจและกำลังสติปัญญา  

นอกเหนือจากข้อที่กล่าวมาแล้ว ยังมีวิธีการที่จะทำให้เราทั้งมีความสุขและความสำเร็จได้รวดเร็วยิ่งขึ้นไปอีก นั่นคือการได้รับความสุขจากการส่งต่อความสุขให้ผู้อื่น เริ่มต้นจากเราต้องมีความสุขก่อน เราจึงสามารถส่งต่อความสุขนั้นไปให้ผู้อื่นได้ ซึ่งจะเป็นการการันตีได้ว่า “ตนเองต้องมีความสุข” ไม่อย่างนั้นเราจะเป็นคนที่ให้ความสุขแก่คนรอบข้างได้อย่างไร

วิธีการส่งต่อความสุขทำได้หลายทาง เช่น การบำเพ็ญประโยชน์ในที่ต่าง ๆ ไปเป็นวิทยากรให้ความรู้ จัดกิจกรรม หรือช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส เป็นจิตอาสาพัฒนาสังคม หรือการให้คำแนะนำ การให้ความช่วยเหลือเพื่อนร่วมงาน รุ่นน้องในที่ทำงานสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นการส่งต่อความสุขทั้งนั้น

การส่งต่อความสุขด้วยการให้


การที่เราส่งต่อความสุขด้วยการให้ จะทำให้เรารู้สึกดี รู้สึกมีคุณค่าในตนเองว่าเราได้สร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่น ยิ่งพอได้เห็นผู้รับมีความสุข ส่งรอยยิ้มส่งความสุขกลับมาให้เรา เราจะรู้สึกได้ถึงความอิ่มเอมภายในใจของเราเอง

ข้อต่อไปคือ “รู้จักการบริหารอารมณ์” ถ้าเราใช้สติปัญญาควบคุมอารมณ์ของตนเอง สามารถควบคุมการแสดงออกของตนเองได้ ในขณะเดียวกันก็พยายามเข้าใจในพฤติกรรมของผู้อื่น ทำให้สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ได้อย่างมีความสุข เพราะว่าเราไม่แสดงออกทางอารมณ์ที่เป็นไปในทางตำหนิผู้อื่น ในขณะเดียวกันถ้าผู้อื่นแสดงปฏิกิริยาทางอารมณ์ออกมา เราก็จะทำความเข้าใจได้นั่นเอง

การบริหารอารมย์ สุขหรือทุกข์ขึ้นอยู่กับสถานการณ์นั้น ๆ


สุขหรือทุกข์ความจริงไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์นั้น ๆ เป็นหลัก แต่ขึ้นอยู่กับความคิดภายในใจเราต่างหาก ว่าเราจะตีความหรือรู้สึกกับสถานการณ์นั้น ๆ อย่างไร

ความสงบจิตสงบใจเรียกว่า "สุขใจ"


แม้เงินตราและความสำเร็จจะเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายขึ้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เรามีความสุขเสมอไป เป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตคนเรานั้นอยู่ที่ความสงบจิตสงบใจเรียกว่า “สุขใจ” มากกว่า ถ้าเราสามารถทำใจให้เป็นสุขแล้วความสำเร็จก็จะตามมาได้โดยง่าย
                                                                                                          

                                                                                   


กราบขอบพระคุณ :

พระธรรมเทศนาโดย พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ
หนังสือ PERFECTIONIST : เรื่องสุขจากการแสวงหา ความสำเร็จ หน้า 96-115 พร้อมภาพประกอบ

วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

สวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร...ฉลองชัยส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่



ในสากลโลกและจักรวาลอันกว้างใหญ่นี้ สรรพสัตว์ล้วนต่างดำเนินชีวิตไปตามวิถีทางของตน บางวันก็สดใสชื่นมื่น บางวันก็อึมครึมฟ้าหม่น ขณะเดียวกัน มุมเล็กๆ มุมหนึ่งในห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้า ในขณะที่ข้าพเจ้ากำลังนั่งเขียนบทความชิ้นนี้อยู่นั้น ก็ได้เหลียวมองออกไปนอกหน้าต่างเพื่อคลายความเมื่อยล้าของสายตา จึงพลันพบว่า สิ่งที่ฉาบทาท้องฟ้าครามอยู่นั้น หาใช่ขอบแสงทองเหลืองอร่ามแห่งแสงรวียามบ่ายคล้อยเช่นทุกวัน หากแต่เป็นความมืดหม่นที่กำลังคืบคลานมาพร้อมกับพายุฝน


จึงได้ฉุกคิดพร้อมกับครุ่นคิดถึงเรื่องราวประการหนึ่งของมวลมนุษยชาติ นั่นก็คือ “เราเกิดมาเพื่ออะไร ? อะไรคือจุดมุ่งหมายสูงสุดที่แท้จริงของมวลมนุษยชาติ ? และอะไรคือความมืดที่คอยบังตาธรรมหรือเป้าหมายที่แท้จริงของพวกเราอยู่ ?” ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ถึงแม้จะขับขานผ่านกาลนานไกลมาหลากหลายยุคสมัย แต่ก็หามีผู้ใดแถลงไขให้แจ่มกระจ่างได้เลยไม่ เสมือนดั่งหมอกเมฆพายุฝนในคืนฟ้าหม่น ที่ห่อหุ้มแสงจากดวงตะวันมิให้ทะลุผ่านชั้นบรรยากาศมายังพื้นโลกได้

จวบกระทั่งพระบรมศาสดาเอกของโลกและจักรวาลได้บังเกิดขึ้นเมื่อราว 2,500 กว่าปีที่ผ่านมา  ความมืดมิดที่แนบสนิทและปกคลุมอยู่ภายในใจ จึงพลันมลายหายไปด้วยแสงแห่งพระสัทธรรมของพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นประดุจเพชรตัดมายาที่เจาะทะลุม่านหมอกแห่งอวิชชาไป ฉะนั้น



ดังนั้น การบังเกิดขึ้นของพระพุทธองค์และพระธรรมคำสอน จึงนับได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งและเกิดขึ้นได้โดยยาก สมดังพระพุทธพจน์ 2 บาทพระคาถา ที่ว่า “กิจฺฉํ สทฺธมฺมสฺสวนํ,  กิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺปโท” (ขุ.ธ. (บาลี) 25/ 24/ 39) แปลว่า “การที่จะได้ฟังสัทธรรมก็นับว่ายาก, การที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายจะเสด็จอุบัติขึ้นก็ยิ่งยาก” (ขุ.ธ. (ไทย) 25/ 182 / 90) โดยเฉพาะพระธรรมเทศนาที่ชื่อว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” นั้น

นับเป็นพระสัทธรรมที่ไม่เหมือนกับหลักปฏิบัติปกติของเหล่าพราหมณ์พรตในสมัยนั้น ซึ่งเหล่าพราหมณ์พรตแถบลุ่มแม่น้ำสินธุในยุคนั้น มักจะปฏิบัติตนบนเส้นทางที่สุดโต่ง 2 ประการ คือ กามสุขัลลิกานุโยค (การตามประกอบความเพียรคือการยินดีในกามคุณ 5 คือ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส) และอัตตกิลมถานุโยค (การตามประกอบความเพียรคือการทำตนเองให้ลำบาก เช่น เหยียบหนามเดินลุยไฟ เป็นต้น)

แต่ปฐมเทศนาพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้น ได้แสดงให้เห็นถึงโทษของการปฏิบัติทั้ง 2 วิธี ข้างต้น พร้อมกับได้แสดงถึงวิธีการปฏิบัติอันประเสริฐที่เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา (ทางสายกลาง)”  ซึ่งเป็นวิถีทางใหม่ที่พลันผุดขึ้นท่ามกลางหมอกควันแห่งวิกฤติศรัทธา เป็นเสมือนวีรชนคนกล้าที่ปรากฏในยามที่บ้านเมืองระส่ำระสายและต้องการผู้นำชี้ทางสว่าง โดยเหตุการณ์เช่นนี้ คงเป็นดังคำในภาษาจีนที่ว่า危機 (เหวยจี)” ที่แปลว่า “วิกฤติ” ซึ่งเป็นการผนวกรวมกันระหว่างคำว่า危險 (เหวยเสวี่ยน) อันตราย” และ 機會 (จีฮุ้ย) โอกาส” เข้าด้วยกัน ฉะนั้น ความนัยที่แฝงเร้นอยู่ในคำว่า “วิกฤติ” นั้น แม้ว่าจะมีอันตรายปรากฏอยู่ แต่ในขณะเดียวกันก็มักจะมีโอกาสอันเลิศซ่อนอยู่ด้วยเช่นกัน ดังนั้น อันตรายจากวิกฤติศรัทธาในยามนั้น จึงนับเป็นโอกาสอันดีในการปรับแก้วิถีทางพรตและแถลงไขความไม่เข้าใจของปวงประชาในสมัยนั้นด้วยเช่นกัน

          หากจะกล่าวถึงใจความสำคัญของพระธรรมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้น นอกจากจะชี้ให้เห็นโทษของวิถีทางสุดโต่งทั้ง 2 สาย พร้อมชี้ให้เห็นถึงวิถีทางใหม่ที่เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา (ทางสายกลาง)” แล้วนั้น ในพระสูตรอันสำคัญนี้ ยังกล่าวไว้อย่างชัดแจ้งไปตามลำดับว่า

สรรพสัตว์ทั้งหลายที่ยังเวียนว่ายอยู่ในทะเลอันไร้ขอบเขตคือสังสารวัฏนี้ ล้วนแล้วแต่ประสพทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น เพราะเมื่อเกิดบ่อยๆ ย่อมแก่บ่อยๆ และย่อมกระทำกาละบ่อยๆ นอกจากนี้ ในระหว่างนั้น ก็ยังต้องประสพทั้งความโศกเศร้าอาดูร ทุกข์กาย ทุกข์ใจ ความยึดมั่นถือมั่นและสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก อีกทั้งยังต้องพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักและไม่ได้ดั่งใจในสิ่งที่ตนปรารถนา สิ่งเหล่านี้ (ทุกข์อริยสัจ) ล้วนเป็น “ผล” ที่เกิดจาก “เหตุ” (ทุกข์สมุทัยอริยสัจ) คือ ตัณหา (ความอยาก) ทั้ง 3 ได้แก่ กามตัณหา (ความอยากในกามคุณ 5) ภวตัณหา (ความอยากในภพทั้ง 3 คือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ) และวิภวตัณหา (ความอยากคือการไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น) โดยผลและเหตุทั้ง 2 ประการ ข้างต้นนั้น

นับเนื่องในส่วนของปุถุชนที่ยังมีกิเลสในดวงตาจักษุอยู่ ซึ่งปุถุชนทั้งหลายเหล่านี้ หากมีความมุ่งมาดปรารถนาจะปรับดัดขจัดกิเลสตนจนกระทั่งสิ้นอาสวะเป็นพระอรหันต์ โดยที่สุดแม้จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ล้วนสามารถกระทำให้เกิดมีในตนได้ทั้งสิ้น หากสามารถประกอบเหตุให้ถูกต้องครบบริบูรณ์ โดยความมุ่งมาดปรารถนาต่างๆ เหล่านี้ ก็ล้วนเป็น “ผล” (ทุกข์นิโรธอริยสัจ แปลว่า อริยสัจคือความดับทุกข์) ที่เกิดจาก “เหตุ” (ทุกข์นิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ แปลว่า อริยสัจคือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์) ซึ่ง “ทุกข์นิโรธคามีนีปฏิปทาอริยสัจ” อาจสามารถเรียกได้ว่า “มัชฌิมาปฏิทา” หรือก็คือ “อริยมรรค” ซึ่งมีหลักปฏิบัติอยู่ 8 ประการ ด้วยกัน คือ “สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ”

ซึ่งภายหลังจากจบการแสดงปฐมเทศนาพระสูตรนี้แด่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 รูป ก็ได้เกิดมีพยานการตรัสรู้ธรรมของพระพุทธองค์ คือ “พระโกณฑัญญะ” ดังความตอนหนึ่งจากพระสูตรนี้ว่า “อิติหิทํ อายสฺมโต โกณฺฑญฺญสฺส อญฺญาโกณฺฑญฺโญ เตฺวว นามํ อโหสิ” (ขุ.ปฏิ. (บาลี) 31/ 601/ 510) แปลว่า “คำว่า “อัญญาโกณฑัญญะ” นี้ จึงได้เป็นชื่อของท่านโกณฑัญญะนั่นแล” (ขุ.ปฏิ. (ไทย) 31/ 30/ 486) ซึ่ง คำว่า “อัญญา” ที่ใส่เพิ่มเข้ามาข้างหน้าชื่อของท่านพระโกณฑัญญะ เป็นการแสดงสื่อถึงว่าท่านพระโกณฑัญญะได้รู้ธรรมที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบแล้วนั่นเอง

โดยสรุปแล้วนั้น โทษของวิถีทางสุดโต่ง 2 ประการ อีกทั้งผลและเหตุ 4 ประการ หรือ “อริยสัจ 4 ที่แปลว่า “ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ” นั้น นับเป็นสาระสำคัญยิ่งที่ปรากฏในปฐมเทศนาพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตรตามนัยที่กล่าวมาแล้ว

ดังนั้น จึงขอเรียนเชิญท่านผู้มีบุญทุกท่าน ซึ่งเป็นดั่งผู้กล้าที่พลันปรากฏในห้วงวิกฤตการณ์หลายๆ อย่างนี้ มาร่วมแรงประสานใจฉลองชัยส่งท้ายปีเก่าปีพุทธศักราช 2562 ต้อนรับศักราชใหม่ปีพุทธศักราช 2563 ด้วยการสวดมนต์บทธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ณ พระมหาธรรมกายเจดีย์ พระมหาเจดีย์พระพุทธเจ้าล้านพระองค์ วัดพระธรรมกาย ให้เป็นตำนานและแบบอย่างอันดี ที่จะส่งต่อไปยังลูกหลานและประชุมชนในภายหลัง ได้เห็นเป็นทิฏฐานุคติอันงดงามว่า “ทุกท่านคือผู้กล้าที่แท้จริง กล้าที่จะคิดดี กล้าที่จะพูดดีและกล้าที่จะทำดี” สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่มาในมหาสารชาดกว่า “เมื่อถึงยามคับขันประชาชนต้องการผู้กล้าหาญ...” (ขุ.ชา. (ไทย) 27/ 92/ 37)

จึงขอเชิญชวนและอนุโมทนาบุญกับผู้มีบุญทุกๆ ท่านมาสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตรให้ได้ 2,000,000,000 จบ ณ วัดพระธรรมกาย ส่งท้ายปีเก่าปีพุทธศักราช 2562 ต้อนรับปีใหม่ปีพุทธศักราช 2563 เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชาและเพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว รักและปรารถนาดีกับใครชวนกันมาสวดนะคะ

ขอกราบอนุโมทนาบุญยอดกัลยาณมิตรลูกพระธัมมฯทั่วโลกมา ณ โอกาสนี้ สาธุค่ะ


กราบขอบพระคุณ 
นักเขียนอิสระ :  釋清勝 (ซรื้อชิงเซิ้ง) แปลว่า “ผู้มีชัยชนะด้วยความสงบเยือกเย็น”
ภาพประกอบ

วันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ประวัติความเป็นมาของพิธีลอยกระทง...อธิษฐานอย่างไรให้สมปรารถนา ?





กระทงธรรม 7 สีลอยเพื่อเป็นพุทธมารดา

กระแสโซเชียลวัฒนธรรมอันดีงามของการลอยกระทงเพิ่งผ่านไป ซึ่งปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 วันลอยกระทงเป็นประเพณีอันดีงาม ที่เราคนไทยที่นับถือพระพุทธศาสนามีความภาคภูมิใจและปฏิบัติสืบทอดต่อๆกันมาแต่สมัยพุทธกาลทีเดียว  กิจกรรมลอยกระทงเป็นกิจกรรมที่ให้ทั้งบุญกุศล ความสนุกสนานความสามัคคี   ของหมู่พี่น้องคนไทยที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลานาน

วันนี้จะขอนำเกร็ดความรู้สาระสำคัญเกี่ยวกับประวัติของการเกิดประเพณีลอยกระทงว่ามีความเป็นมาอย่างไรให้ทราบ  เรามาศึกษากันดูได้เลย

ในยุคสมัยนี้ หลายคนคิดว่า การลอยกระทงเป็นประเพณีที่จัดขึ้นเพื่อความบันเทิงหรือเป็นงานรื่นเริงประจำปีแค่นั้น แต่แท้จริงแล้ว...การลอยกระทงมีตำนานความเชื่อมากมาย ซึ่งถ้านับเฉพาะความเชื่อในทางพระพุทธศาสนา

พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์หลังโปรดพุทธมารดา

การลอยกระทงนั้น ก็เป็นไปเพื่อการบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือบูชาพระรัตนตรัยเท่านั้น เพราะชาวพุทธเชื่อว่า การลอยกระทงเกิดขึ้นจาก การลอยเพื่อต้อนรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในครั้งที่พระพุทธองค์เสด็จกลับจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังเสร็จจากการจำพรรษาโปรดพระพุทธมารดา
ซึ่งขณะที่พระองค์เสด็จลงมา ทั้งเหล่าทวยเทพเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายได้ทำการสักการบูชาพระพุทธองค์ด้วยทิพยบุปผา มาลัย ลอยกระทงดอกไม้ เพื่อน้อมบูชาด้วยจิตเลื่อมใส
นอกเหนือจากนี้ ยังพบข้อมูลอีกว่า การลอยกระทงได้เกิดขึ้นอีกในครั้งที่พระพุทธองค์เสด็จไปยังฝั่งแม่น้ำนัมมทา เพื่อลงไปเทศน์โปรด พญานาคนัมมทา และเหล่าบริวารยังนาคพิภพ ซึ่งก่อนพระพุทธองค์จะเสด็จกลับ พญานาคทูลอ้อนวอนให้พระพุทธองค์ประทานสิ่งที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจไว้ให้


ด้วยเหตุนี้ ทำให้พระพุทธองค์ทรงอธิษฐานจิตแล้วประทับรอยพระบาทไว้ ณ ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทา ให้ตั้งอยู่นานตลอดหนึ่งกัป
นับจากนั้น ทั้งเหล่านาค ครุฑ และมหาชนทั้งหลาย เมื่อเห็นรอยพระพุทธบาทที่ลุ่มน้ำนัมมทา ต่างเกิดจิตเลื่อมใส พากันมาสักการบูชาด้วยประทีปบ้าง ด้วยมาลัยดอกไม้บ้าง ด้วยการลอยกระทงดอกไม้บ้าง
ที่สำคัญ ยังพบข้อมูลอีกว่า การลอยกระทงยังเป็นการลอยเพื่อบูชาสักการะพระมหาจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์อีกด้วย
แต่ที่น่าสนใจมากไปกว่านั้น ได้พบข้อมูลเพิ่มว่า การลอยกระทงยังใช้ในการสักการบูชาพระสงฆ์ได้อีกด้วย เพราะในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ได้มีการลอยกระทงบูชาพระอุปคุต พระอรหันต์ผู้จำพรรษาอยู่ในสะดือทะเล
ฉะนั้น ในวันลอยกระทงของทุกปี ในฐานะที่เราเป็นพุทธศาสนิกชน  ในฐานะที่เราเป็นพุทธศาสนิกชน ก็ควรชำระกาย วาจา ใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์ โดยนึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นึกถึงคุณของพระรัตนตรัย แล้วมาลอยกระทงเพื่อบูชาพระพุทธองค์ด้วยจิตที่เลื่อมใสกัน

อธิษฐานจิตร่วมกันก่อนลอยกระทงลงน้ำ

5 เคล็ดลับการลอยกระทงให้สิ่งที่อธิษฐานสมปรารถนา
1.ตื่นเช้าขึ้นมาให้อาราธนาศีล ๕ หรือศีล ๘ และรักษาศีล เพื่อให้เราเป็นผู้มีความบริสุทธิ์ในการรองรับบุญใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น
2.เตรียมกระทงสวย ๆ ซึ่งจะซื้อหรือทำเองก็ได้ แต่ถ้าทำเอง ก็ต้องทำด้วยความละเอียดประณีต ทำด้วยจิตเลื่อมใส มีปีติ เบิกบาน ทำด้วยความตั้งใจที่จะน้อมนำกระทงนี้บูชาพระรัตนตรัยซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด

สาธุชนร่วมลอยกระทง ณ สระเศรษฐีทะเลบุญ วัดพระธรรมกาย

3.ก่อนจะลอยให้เราทำใจใส ๆ วางใจเบา ๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 จุดธูปเทียนในกระทง แล้วยกกระทงขึ้นจบ น้อมระลึกนึกถึงคุณอันไม่มีประมาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ และน้อมนึกถึงคุณของพระสงฆ์ที่เราเคารพศรัทธา เช่น พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) จากนั้นก็น้อมนึกบูชาท่านด้วยกระทงนี้ แล้วลอยกระทงลงในน้ำ
4.จากนั้นก็ให้เราตั้งจิตอธิษฐานในสิ่งที่เราปรารถนา เช่น ด้วยบุญจากการบูชาสักการะในครั้งนี้ ข้าพเจ้าขอตั้งจิตอธิษฐานว่า ให้หมดกิเลสอาสวะได้โดยง่ายมีดวงตาเห็นธรรม ให้แข็งแรง ร่ำรวย มีชีวิตที่เจริญรุ่งเรือง และสมปรารถนาในสิ่งที่ตั้งใจไว้ชอบแล้วในทุกประการเทอญ ฯลฯ
5.ก่อนนอนคืนนั้น ให้เราตามตรึกระลึกนึกถึงบุญที่ได้ลอยกระทงบูชาพระรัตนตรัยและอุทิศส่วนกุศล แผ่เมตตาให้แก่บรรพบุรุษ บุพการี ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว ฯลฯ
หากเราได้ทำตาม 5 ขั้นตอนนี้ ก็เท่ากับเราได้เตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมในเรื่องของการทำบุญครบทั้ง 3 วาระ คือ ก่อนทำ ขณะทำ และหลังทำ ซึ่งถ้าทำได้อย่างนี้บุญของเราจะไม่ตกไม่หล่น เกิดอานิสงส์แห่งการบูชาด้วยจิตเลื่อมใสอย่างเต็มที่ และจะดลบันดาลให้คำอธิษฐานของเราสำเร็จเป็นอัศจรรย์ได้โดยง่ายโดยเร็วพลันนั่นเอง...


วัดพระธรรมกายจัดให้มีพิธีลอยกระทงเป็นประจำทุกปี และได้จัดสถานที่ลอยกระทงให้เป็นสัดส่วนเพื่อแก้ปัญหาการเก็บทำลายขยะเศษซากอุปกรณ์ทำกระทงได้อย่างง่ายๆ และช่วยลดภาวะโลกร้อนด้วย

วันลอยกระทงเป็นวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม เป็นวันที่เราชาวพุทธทุกคนได้มีโอกาสพาครอบครัวถวายกระทงดอกไม้เพื่อบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันจะเกิดบุญเกิดกุศลแก่ตนเองและครอบครัว ชีวิตเราและครอบครัวจะประสบแต่ความสุขความสำเร็จและความเจริญยิ่งๆขึ้นไป เราทุกคนควรช่วยกันส่งต่อให้ลูกหลานได้ช่วยกันธำรงรักษาสิ่งดีงามนี้ให้อยู่คู่โลกตราบนานเท่านาน ขอกราบอนุโมทนาบุญ สาธุค่ะ

กราบขอบพระคุณ :

ประโยชน์ที่ได้รับ...จากการทำสมาธิ

    สมาธิก่อให้เกิดประโยชน์อย่างไรบ้าง บางคนหากไม่ได้สังเกตก็อาจไม่ทันรู้ตัวว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองนั้นเป็นผลมาจากสติปั...