วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ปัญจาวุธชาดก...ชาดกว่าด้วยการทำความเพียร


  นิทานชาดกเป็นสมบัติล้ำค่าของชาวพุทธ นิทานชาดกมิใช่เรื่องที่แต่งขึ้นเพื่อสอนคุณธรรม แต่นิทานชาดกคือเรื่องในอดีตชาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงแสดงแก่พระภิกษุในโอกาสต่างๆ เพื่อเป็นแบบแผนในการทำความดี หลักธรรมที่ได้จากการรับชมรับฟังนิทานชาดกนี้ สามารถนำไปใช้ให้เป็นคุณประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของตนเองและผู้อื่น




วันนี้ขอเสนอ ปัญจาวุธชาดก...ชาดกว่าด้วยการทำความเพียร

สถานที่ตรัสชาดก   

เชตวันมหาวิหารนครสาวัตถี

ในสมัยพุทธกาล ขณะเมื่อพระบรมศาสดาประทับ ณ เชตะวันมหาวิหาร ทรงทราบว่าในเวลานั้นมีภิกษุรูปหนึ่ง มีนิสัยเกียจคร้านในการศึกษาและปฏิบัติธรรมครองเพศสมณะอยู่ไปวันหนึ่งๆเท่านั้น
พระพุทธองค์จึงทรงเรียกพระภิกษุรูปนั้นมาสอบถาม เมื่อทรงทราบแล้วจึงทรงตักเตือนว่า
“ดูก่อนภิกษุ แม้ในกาลก่อน บัณฑิตทั้งหลายกระทำความเพียรในที่ที่ควรประกอบความเพียร ก็ยังบรรลุถึงราชสมบัติได้”
แล้วทรงระลึกชาติแต่หนหลังของพระองค์เอง ด้วยบุพเพนิวาสานุสติญาณ แล้วตรัส   มีเนื้อความดังนี้



 เนื้อหาชาดก
ในอดีตกาลนานมาแล้ว ที่เมืองพาราณสี  มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระเจ้าพรหมทัต ทรงปกครองบ้านเมืองโดยทศพิธราชธรรม ประชาชนอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขโดยทั่วหน้ากัน
ในเวลาต่อมา พระอัครมเหสีได้ประสูติพระราชโอรสซึ่งมีพระลักษณะสมบูรณ์ด้วยบุญญาธิการ ครั้นล่วงถึงวันสมโภชพระนามบรรดาโหรหลวงผู้ชำนาญในการดูลักษณะ ต่างพากันถวายคำทำนาย
“ พระราชกุมารพระองค์นี้ ต่อไปภายหน้าจะได้ครองราชย์สมบัติ จะมีความเชี่ยวชาญเป็นเยี่ยมทั้งในด้านการปกครอง และด้านการสงคราม จะปรากฏชื่อลือชา ด้วยการใช้เพลงอาวุธ 5 ชนิด”
เมื่อได้ฟังคำทำนายเช่นนั้น พระเจ้าพรหมทัตทรงปลาบปลื้มพระทัยยิ่งนัก จึงทรงพระราชทานพระนามพระราชโอรสว่า ปัญจาวุธกุมาร



ปัญจาวุธกุมารทรงเจริญวัยขึ้นตามลำดับ ทรงมีพระสติปัญญาเฉลียวฉลาด และสมบูรณ์ด้วยพละกำลัง ยิ่งกว่ากุมารทั้งหลายในวัยเดียวกัน
เมื่อพระชนมายุครบ 16  พรรษา พระราชบิดาทรงมีรับสั่งให้เดินทางไปศึกษาศิลปวิทยา ในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ณ เมืองตักกสิลา แคว้นคันธาระ  (บัดนี้อยู่ในเขตปากีสถาน)
เพียงเวลาผ่านไปไม่นาน ปัญจาวุธกุมารก็สามารถศึกษาศิลปะศาสตร์ ได้สำเร็จครบทุกแขนง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการรบพุ่ง ทรงมีความชำนาญเป็นเลิศในการใช้อาวุธสำคัญ คือ ธนู พระขรรค์ หอกซัด กระบอง อีกทั้งทรงมีพระสติปัญญาเป็นเลิศ สมดังคำทำนายของบรรดาโหราจารย์ทุกประการ
จากนั้น พระราชกุมารก็กราบลาพระอาจารย์ ออกจากสำนักทิศาปาโมกข์ เหน็บอาวุธเข้ากับพระวรกายอย่างรัดกุม เสด็จมุ่งหน้ากลับกรุงพาราณสีตามลำพัง โดยทรงลัดเลาะไปตามป่าเขาต่างๆ ซึ่งไม่ใช่ทางที่ทรงดำเนินมาแต่แรก เพราะมีพระประสงค์จะชมภูมิประเทศที่แปลกตาออกไป



ปัญจาวุธกุมารทรงเดินทางรอนแรมอยู่หลายวัน จนกระทั่งวันหนึ่ง ขณะที่กำลังเสด็จผ่านหมู่บ้านเล็กๆ มุ่งเข้าสู่ดงไม้อีกแห่งหนึ่งชาวบ้านย่านนั้นเห็นหนุ่มน้อยแปลกหน้ากำลังเดินทางเข้าสู่แดนอันตราย ก็รีบพากันมาร้องห้ามว่า
“ พ่อหนุ่ม อย่าไปทางนี้เลย ในป่านี้มียักษ์ขนเหนียวอาศัยอยู่ถ้ามันเห็นเจ้า มันต้องจับเจ้ากินแน่ๆ”
ปัญจาวุธกุมารได้ฟังดังนั้น ก็มิได้ทรงนึกครั่นคร้ามเกรงกลัวยักษ์นั้นเลย ทรงขอบใจชาวบ้าน แล้วทรงยืนยันอย่างแข็งขันว่า พระองค์ย่อมสามารถเอาตัวรอดได้

พระราชกุมารผู้มีพระทัยเด็ดเดี่ยว กล้าหาญ เสด็จดำเนินต่อไปในดงไม้ ด้วยท่าที่ทรนงองอาจ สง่างาม แต่ทรงระวังพระองค์อยู่ตลอดเวลา




เจ้ายักษ์ร้ายตนนี้มีชื่อว่า สิเลสโลม แปลว่า “มีขนเหนียวเป็นตัง” มันชอบดักจับมนุษย์และสัตว์ป่ากินเป็นอาหาร เมื่อเห็นหนุ่มน้อยเดินเข้ามาถึงที่อยู่ของมันตามลำพัง ก็นึกดีใจว่าได้ลาภปากอีกแล้ว  จึง รีบแปลงกายให้ใหญ่โต สูงลิ่วเท่าลำตาล ศีรษะโตเท่าเรือนยอด  นัยน์ตาแต่ละข้างขนาดเท่าล้อเกวียน ตาลุกวาวแดงก่ำน่ากลัว เขี้ยวทั้งสองมีขนาดเท่าหัวปลี หน้าขาว ท้องด่าง มือเท้าเขียวดูรูปร่างทั้งน่าอัปลักษณ์ ทั้งน่าสะพรึงกลัว มันย่างสามขุมตรงเข้ามาหาปัญจาวุธกุมาร
“ ฮ่ะฮ่ะฮ่ะ เจ้าหนุ่มน้อยมาให้ข้า จับกินซะดีๆ” มันแสยะปากหัวเราะพร้อมกับก้าวเท้าเข้ามา
แต่แทนที่ปัญจาวุธกุมารจะหวาดหวั่นครั่นคร้าม กลับร้องขึ้นว่า
“ ชะชะ เจ้ายักษ์ขนเหนียว วันนี้ เราจะปราบเจ้าให้สิ้นฤทธิ์เลยทีเดียว”  
พูดแล้ว ปัญจาวุธกุมารก็ชักธนูอาบยาพิษขึ้นมา แล้วยิงไปยังเจ้ายักษ์ขนเหนียวทันที แต่ลูกธนูก็ไม่อาจทำอันตรายยักษ์ได้ กลับไปติดแน่นอยู่ที่ขนหน้าแข้งของมัน 

ยักษ์ชะงักอยู่กับที่นิดหนึ่ง ด้วยคาดไม่ถึงว่า จะมีมนุษย์คนใดใจกล้าถึงปานนี้ มันก้าวเข้ามาอีกก้าวหนึ่ง ปัญจาวุธกุมารก็ยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษเข้าไปอีก

แต่ลูกศรไม่อาจทำอันตรายเจ้ายักษ์ขนเหนียวได้ กลับไปติดระเกะระกะอยู่ตามขนหน้าแข้งของมัน แต่ปัญจาวุธกุมารไม่ละความพยายาม ระดมยิงลูกศรใส่เจ้ายักษ์จนหมดยักษ์ขนเหนียวสลัดลูกศรทั้งหมดให้ร่วงอยู่แทบเท้า แล้วย่างสามขุมใกล้เข้ามา
“ หยุดนะ!” ปัญจาวุธกุมารตวาดมันอีกครั้ง แล้วชักพระขรรค์อันคมกริบโถมเข้าประชิดยักษ์ แล้วฟันฉับลงไปด้วยพละกำลังอันมหาศาล แต่พระขรรค์ก็ติดอยู่เพียงแค่ขนหน้าแข้งยักษ์เท่านั้นเอง



ปัญจาวุธกุมารไม่ละความพยายาม ชักหอกซัดขึ้นฟาดฟันเจ้ายักษ์ขนเหนียวด้วยกำลังแรง แต่หอกชัดก็ไปติดอยู่ที่ขนหน้าแข้งของมันอีกเช่นกัน
ปัญจาวุธกุมารชักกระบองขึ้นหวดเจ้ายักษ์ แต่กระบองก็ไปติดที่ขนของมันอีก แม้อาวุธทุกอย่าง จะไปติดอยู่ที่ขนหน้าแข้งของยักษ์ขนเหนียว แต่กำลังใจของปัญจาวุธกุมารก็มิได้ลดลงไปเลยแต่กลับประกาศก้องขึ้นว่า
 “ เฮ้ย เจ้ายักษ์! เจ้าไม่เคยได้ยินชื่อของเราผู้มีนามว่าปัญจาวุธกุมารเลยหรือ วันนี้เราจะปราบเจ้าให้แหลกเป็นผงไปเลย”
ว่าแล้ว ปัญจาวุธกุมารก็โถมเข้าหายักษ์ ต่อยด้วยมือขวามือขวาก็ติดขนยักษ์ ต่อยด้วยมือซ้าย มือซ้ายก็ติด เตะด้วยเท้าขวาเท้าขวาก็ติด เตะด้วยเท้าซ้าย เท้าซ้ายก็ติด กระแทกด้วยศีรษะ ศีรษะก็ติด เป็นอันว่าทั้งอาวุธและทั้งตัวของปัญจาวุธกุมาร ติดห้อยต่องแต่งอยู่ตรงหน้าแข้งยักษ์นั่นเอง แต่ถึงกระนั้น ปัญจาวุธกุมารก็ไม่มีท่าที่สะทกสะท้านหรือหวาดกลัวเลย
 เจ้ายักษ์ขนเหนียวไม่เคยพบเคยเห็นใคร ที่มีใจเด็ดเยี่ยง บุรุษอาชาไนย เช่นนี้มาก่อนมันรู้สึกนับถือในความกล้าของปัญจาวุธกุมารมาก มันก้มลงมองปัญจาวุธกุมาร แล้วพูดว่า
“เจ้าหนุ่มเอ๋ย เจ้าแน่มาก ข้ากินเจ้าไม่ลงจริงๆ ข้าอยากรู้นักว่า ทำไมเจ้าจึงไม่กลัวตาย?”
ปัญจาวุธกุมารจึงตอบยักษ์ไปว่า
“ ยักษ์เอ๋ย ทำไมเราจะต้องกลัวตาย ทุกคนเกิดมาก็ต้องตายด้วยกันทั้งนั้น แต่เจ้ารู้หรือไม่ว่า ในท้องเรามี วชิราวุธ ถ้าเจ้ากินเรา เจ้าก็ต้องตายเหมือนกัน เพราะวชิราวุธในท้องเรา จะบาดไส้พุงของเจ้าให้ขาดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ฮะฮ่ะฮ่ะ เจ้ายักษ์เอ๋ยเราไม่ตายเดียวหรอก ถ้าเราตาย เจ้าก็ต้องตายด้วย”
ยักษ์ขนเหนียวได้ฟังคำขู่ของปัญจาวุธกุมารก็รู้สึกครั่นคร้ามจึงกล่าวว่า
“ พ่อหนุ่ม เราไม่อยากกินเนื้อของเจ้าหรอก ตัวเจ้าเล็กนิดเดียว กินไปก็ไม่พออิ่ม เอาละเราจะปล่อยเจ้าไป”



ว่าแล้วเจ้ายักษ์ก็จับปัญจาวุธกุมารวางลงกับพื้นดิน แต่แทนที่ปัญจาวุธกุมารจะเดินจากไป กลับหันหน้าพูดกับยักษ์ว่า
“ ขอบใจ เจ้ายักษ์ แต่ก่อนที่เราจะไป เราขอเตือนเจ้าว่าเจ้าได้ก่อกรรมทำเข็ญไว้มากตั้งแต่เมื่อชาติก่อนแล้ว เจ้าจึงต้องมาเกิดเป็นยักษ์ มีชีวิตอยู่ด้วยความตาย และเลือดเนื้อของผู้อื่นนับว่าเกิดมาสร้างกรรมแท้ๆ เมื่อเจ้าสิ้นชีวิตละโลกนี้ไป เจ้าต้องไปเกิดใน
อบายภูมิคือ นรก เกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉาน เกิดเป็นเปรตเป็นอสุรกายเหมือนอย่างที่เจ้าต้องมาเกิดเป็นยักษ์อีกแน่ๆ แม้หมดเวรจากอบายภูมิมาเกิดเป็นมนุษย์ อายุของเจ้าก็จะสั้น เพราะได้ทำลายชีวิตของผู้อื่นไว้มาก เจ้าจงอย่าได้ฆ่าใครๆ อีกเลย จงประพฤติธรรมรักษาศีลดีกว่า”
ยักษ์ขนเหนียวนั่งนิ่งฟังคำของปัญจาวุธกุมารอย่างสงบนับเป็นการฟังธรรมครั้งแรกในชีวิตของมัน เจ้ายักษ์รู้สึกเลื่อมใสศรัทธา จึงตั้งใจฟังเป็นอย่างดี ปัญจาวุธกุมารจึงขอให้ยักษ์รักษาศีล 5 แล้วเตือนให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท



เมื่อปัญจาวุธกุมารปราบยักษ์ได้แล้ว จึงเก็บอาวุธของตนเดินทางออกจากป่าเข้าสู่หมู่บ้าน เพื่อบอกชาวบ้านให้เลิกหวาดกลัวยักษ์ขนเหนียว แล้วให้นำข้าวปลาอาหารไปให้ยักษ์กินด้วย เพราะยักษ์จะรักษาศีลแล้ว จากนั้น ปัญจาวุธกุมาร จึงเดินทางเข้าสู่เมืองพาราณสีต่อไป  






 ประชุมชาดก
 เมื่อพระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาจบแล้ว ก็ตรัสพระคาถาเพิ่มเติม มีใจความว่าไม่ว่า
“ นรชนผู้ใด มีจิตไม่ท้อแท้ มีใจไม่หดหู่ บำเพ็ญกุศลธรรม เพื่อบรรลุความเกษมจากโยคะ
นรชนผู้นั้น พึงบรรลุความสิ้นสังโยชน์ทุกอย่างโดยลำดับ”
อธิบายโดยย่อว่า
 “ คนเรา ถ้าไม่ย่อท้อ ไม่รวนเร ไม่หดหู่ ก็จะเห็นคนที่มีจิตใจ มั่นคง สามารถฝึกสติให้ดีได้ สมาธิก็จะก้าวหน้า บรรลุธรรมชั้นสูงๆ ขึ้นไปตามลำดับ”
พระภิกษุผู้มีความเพียรย่อหย่อน ก็กลับมีกำลังใจเข้มแข็งขึ้นมาใหม่ จิตใจผ่องใส ชุ่มชื่น เบิกบาน พระบรมศาสดาจึงทรงแสดง อริยสัจสี่โดยอเนกปริยาย พระภิกษุรูปนั้นก็สามารถประคองใจให้หยุดนิ่ง เข้าถึงธรรมกายอรหัต สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในบัดนั้นเอง
ครั้นแล้วพระบรมศาสดา จึงทรงประชุมชาดกว่า
ยักษ์     ในครั้งนั้น     ได้มาเป็นองคุลีมาล
ปัญจาวุธกุมาร           ได้มาเป็นพระองค์เอง
ข้อคิดจากชาดก
1. การทำความเพียรอย่างไม่ลดละ ทำให้เกิดอำนาจในตัวได้ ถึงเป็นคนธรรมดาไม่มีอำนาจราชศักดิ์ ก็ยังเป็นที่ครั่นคร้ามของคนทั่วไป แม้อันธพาลก็ยังลังเล ไม่กล้ารุกรานเพราะอัศจรรย์ในพลังจิตที่เข้มแข็งเด็ดเดี่ยวของผู้นั้น
2. ขึ้นชื่อว่า คน ย่อมกลัวตายด้วยกันทั้งนั้น แต่เมื่อถึงคราวจะตาย คนบางพวกกลับไม่หวาดหวั่น
คนพวกนี้ คือผู้ที่ฝึกสมาธิอย่างช่ำชอง ตัดสินใจสละชีวิตเพื่อบำเพ็ญเพียร เพื่อเข้าถึงนิพพานมาตั้งแต่ต้น ดังนั้น จึงมีความเชื่อมั่นอย่างแน่นแฟ้นว่า แม้ถึงตาย บุญที่ทำไว้ดีแล้ว ย่อมทำให้ไปเกิดในที่ดีจึงไม่เสียดายชีวิตเลย

 อธิบายศัพท์
ปัญจาวุธชาดก (อ่านว่าปัน-จา-วุด-ชาดก)
ปัญจาวุธ            อาวุธ 5 อย่าง
                          หมายถึงเหนียวมาก เหนียวติดเหมือนยางไม้ชนิดหนึ่ง
บุรุษอาชาไนย  บุรุษผู้แกล้วกล้า  ผู้ฝึกตนมาดีแล้ว
เรือนยอด          อาคารที่มีหลังคาทรงสูง
วชิราวุธ            อาวุธอันเป็นสายฟ้า, อาวุธที่คมราวเพชร
                         (แท้ที่จริงแล้วคือปัญญาอันรุ่งโรจน์)


พระคาถาประจำชาดก
โย  อลีเนน  จิตฺเตน     อลีนมนโส  นโร
ภาเวติ  กุสลํ  ธมฺมํ      โยคกฺเขมสฺส  ปตติยา
ปาปุเณ  อนุปุพฺเพน    สพฺพสํโยชนกฺขยํ.

นรชนใดมีจิตไม่ท้อแท้  มีใจไม่หดหู
บำเพ็ญกุศลธรรมเพื่อบรรลุความเกษมจากโยคะ
นรชนผู้นั้น  พึงบรรลุถึงความสิ้นสังโยชน์ทุกอย่าง โดยลำดับ.


ที่มา :  มก. เล่ม 55 หน้า 170



กราบขอบพระคุณที่มาของบทความที่สมบูรณ์
พระธรรมเทศนา โดยหลวงพ่อทัตตชีโว นิทานชาดกอันดับที่ 6 หน้า 47-55



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประโยชน์ที่ได้รับ...จากการทำสมาธิ

    สมาธิก่อให้เกิดประโยชน์อย่างไรบ้าง บางคนหากไม่ได้สังเกตก็อาจไม่ทันรู้ตัวว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองนั้นเป็นผลมาจากสติปั...