วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

กาญจนักขันธชาดก... ธรรมะมีค่าดั่งทอง



นิทานชาดกเป็นสมบัติล้ำค่าของชาวพุทธ นิทานชาดกมิใช่เรื่องที่แต่งขึ้นเพื่อสอนคุณธรรม แต่นิทานชาดกคือเรื่องในอดีตชาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงแสดงแก่พระภิกษุในโอกาสต่างๆ เพื่อเป็นแบบแผนในการทำความดี หลักธรรมที่ได้จากการรับชมรับฟังนิทานชาดกนี้ สามารถนำไปใช้ให้เป็นคุณประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของตนเองและผู้อื่น
วันนี้ขอนำเสนอชาดกเรื่อง กาญจนักขันธชาดก ชาดกว่าด้วยธรรมะอุปมาเสมือนทองคำ ติดตามอ่านกันตอนนี้เลย
สถานที่ตรัสชาดก
เชตะวันมหาวิหารนครสาวัตถี
สาเหตุที่ตรัสชาดก
ครั้งหนึ่งมีชายผู้หนึ่งได้ฟังพระธรรมเทศนาจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วบังเกิดความเลื่อมใสศรัทธาจึงทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระบรมศาสดาทรงโปรดให้พระอุปัชฌาย์จัดการบวชให้ และให้รับไปปกครองดูแล อบรมสั่งสอน
พระภิกษุบวชใหม่รูปนี้ มีกิริยามารยาทเรียบร้อย อ่อนน้อมถ่อมตน และตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม พระเถระผู้ใหญ่หลายท่านจึงเมตตาเอ็นดู ช่วยกันเอาใจใส่อบรมสั่งสอนเป็นพิเศษ ยกหัวข้อธรรมต่างๆ มากมาย มาอธิบายอย่างละเอียดลออ ทั้งกำชับให้ตั้งใจรักษาศีลให้ครบบริบูรณ์อีกด้วย

อันศาสนธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น หากจะแจกแจงรายละเอียดออกไปโดยพิสดาร ก็จะประมวลหัวข้อธรรมได้มากถึง 84,000 พระธรรมขันธ์ แม้ลำพังพระวินัย อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับศีลของพระภิกษุโดยเฉพาะ  ก็ยังมีมากนับได้ถึง 21, 000 ข้อ
พระอุปัชฌาย์และพระอาจารย์ของพระภิกษุบวชใหม่ล้วนไม่รู้จักประมาณกำลังสติปัญญาของลูกศิษย์ มีแต่ความปรารถนาดีจึงกลายเป็นยัดเยียดคำสอนให้โดยไม่รู้ตัว
ดังนั้น เพียงเวลาผ่านไปไม่นาน จิตใจอาจหาญราเร่งมาแต่ต้นของศิษย์ ก็พลันแห้งฝ่อห่อเหี่ยวไปทีละน้อยๆ ในที่สุดท่านก็มาหวนคิดสมเพชตัวเองว่า



“ โอ...ศีลของพระภิกษุ ช่างมีมากมายจริงหนอ... อย่าว่าแต่จะปฏิบัติให้ครบเลย เพียงแค่ชื่อศีล...เราก็ยังจำได้ไม่หมดเสียแล้วขืนบวชอยู่ต่อไปก็ไม่มีประโยชน์ คงเป็นพระภิกษุที่ดีไม่ได้ เพราะศีลบกพร่องสู้สึกออกไปมีเหย้ามีเรือน แล้วหมั่นทำบุญให้ทานรักษาศีลเป็นกำลังของพระศาสนายังจะดีกว่า ... ”

เมื่อคิดตัดสินใจดังนี้แล้ว ท่านก็หอบหิ้วบริขารต่างๆ มีบาตร จีวร เป็นต้น เดินคอตกเข้าไปหาพระอุปัชฌาย์ กราบท่านแล้วบอกคืนบริขารทั้งหมด พร้อมทั้งสารภาพด้วยใบหน้าเศร้าหมองว่าท่านไม่อาจรักษาศีลให้ครบถ้วนได้ ตามที่ท่านอาจารย์บอกจะขอลาสิกขากลับไปเป็นฆราวาสตามเดิม
พระอุปัชฌาย์และพระอาจารย์ ได้ทราบความประสงค์ของลูกศิษย์แล้ว ก็ถึงกับนิ่งอึ้งไป คาดไม่ถึงว่า ความปรารถนาดี การจ้ำจี้จ้ำไชสอนศิษย์ของท่าน จะส่งผลย้อนกลับไปในทางตรงกันข้าม
เมื่อท่านไม่สามารถยับยั้ง หน่วงเหนี่ยว เกลี้ยกล่อมให้เปลี่ยนใจได้ จึงตัดสินใจพาพระภิกษุนั้น ไปเฝ้าพระบรมศาสดา
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบเรื่อง ก็ทรงสอบถามพระอุปัชฌาย์ถึงวิธีการสอนครั้นท่านกราบทูลให้ทรงทราบแล้วพระบรมศาสดาจึงตรัสว่า



“ ดูก่อนภิกษุ เหตุใดเธอจึงบอกศิลแก่ลูกศิษย์มากนักเล่าภิกษุนี้อาจรักษาศีลได้เท่าใดก็พึงให้รักษาเท่านั้นเถิด ต่อไปนี้เธออย่าบอกอะไรๆ แก่ลูกศิษย์รูปนี้อีกเลย ตถาคตจะสอนเอง”
ตรัสแล้วก็ทรงผินพระพักตร์ไปทางพระภิกษุบวชใหม่ทอดพระเนตรเห็นแววระทดระท้อ ระคนเศร้าหมอง ฉาบฉายอยู่บนใบหน้าอย่างท่วมท้น จึงตรัสให้กำลังใจในเชิงผ่อนปรน ด้วยพระสุรเสียงอันอ่อนโยนว่า


“ ภิกษุ ถ้ามีศีลเพียง 3 ข้อ เธอจะรักษาได้หรือไม่...?”
“ ได้พระเจ้าข้า” ภิกษุหนุ่มรีบทูลตอบรับอย่างแข็งขันแววดาพลันกระจ่างใสขึ้นด้วยความหวังทันที
“ ถ้าเช่นนั้น เธอจงอย่าสึกเลย จงรักษาทวารทั้งสามไว้คือ กายทวาร วจีทวาร มโนทวาร คือ ไม่กระทำกรรมชั่วด้วยกาย ไม่กระทำกรรมชั่วด้วยวาจาและไม่กระทำกรรมชั่วด้วยใจ จงรักษาศีล 3 ข้อนี้เท่านั้นเถิด”
ภิกษุ ผู้บัดนี้กลับอาจหาญ ร่าเริง ในการปฏิบัติธรรมอีกครั้งหนึ่ง ด้วยพระกรุณาอันหาที่สุดมิได้ของพระพุทธองค์
จึงน้อมศีรษะลงสมาทานศีลทั้งสามข้อ ด้วยอาการปะหนึ่งได้รับพระราชทานรัตนะ อันมีค่ายิ่งชีวิต บังเกิดความปิติปราโมชเป็นล้นพ้น
 ครั้นแล้วจึงกราบถวายบังคมลากลับไปยังที่อยู่ พร้อมกับพระอุปัชฌาย์และพระอาจารย์
นับแต่วาระนั้นเป็นต้นมา ภิกษุรูปนั้นก็ตั้งใจประคับประคองควบคุม กาย วาจา ใจอย่างเคร่งครัด มิให้เผลอไผลกระทำกรรมชั่วเพียง 2-3 วันต่อมา ดวงจิตของท่านก็พลันผ่องใส ชุ่มชื่นเบิกบานสามารถเข้าถึงธรรมกายอรหัต สำเร็จเป็นพระอรหันต์ หมดกิเลสโดยสิ้นเชิง เป็นที่น่าอัศจรรย์ ท่านถึงกับเปล่งอุทานออกมาว่า


“ เท่านี้เองหนอ...เท่านี้เองหนอ... ศีลตั้งมากมายก่ายกองที่พระอุปัชฌาย์และพระอาจารย์ อ้อมค้อมบอกแก่เราจนเหลือกำลังรับแท้ที่จริงแล้ว พระพุทธองค์ทรงประมวลไว้เพียง 3 ข้อ เท่านี้เอง...”
ข่าวพระภิกษุผู้ร้อนรนจะสึก กลับสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ ด้วยพระปรีชาสามารถในการย่นย่อศีลของพระพุทธองค์ แพร่สะพัดไปทั่วพระอารามในเวลาอันรวดเร็วพระภิกษุทั้งวัดต่างประชุมกันแซ่ซ้องสรรเสริญ โมทนาสาธุการความเป็นเอกบุรุษ ของพระบรมศาสดาอยู่ไม่ขาดปาก



ครั้นพระสัมมาสัมพุทธ เจ้าทรงทราบเรื่องที่พระภิกษุประชุมสนทนากันแล้ว จึงตรัสว่า
“ มิใช่แต่เฉพาะบัดนี้เท่านั้น ที่ภาระแม้ถึงจะมากมาย เราก็แบ่งโดยส่วนย่อย ให้เป็นดุจของเบาๆได้ แม้ในกาลก่อน บัณฑิตได้ทองแท่งใหญ่ ไม่อาจยกขึ้นได้ ก็ยังแบ่งออกเป็นส่วนย่อยๆแล้วยกไปได้สำเร็จ”
ตรัสแล้วก็ทรงนิ่งเสีย พระภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลอาราธนา ให้ทรงเล่าเรื่องราวแต่หนหลังให้ฟัง พระบรมศาสดาจึงทรงระลึกชาติด้วยบุพเพนิวาสานุสติญาณ แล้วตรัสว่า กาญจนักขันธชาดก มีเนื้อความดังนี้



 เนื้อหาชาดก

ในอดีตกาล สมัยเมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติ ณ กรุงพาราณสี ครั้งนั้น มีชายชาวนาผู้ขยันขันแข็งอยู่คนหนึ่ง เขาคิดที่จะขยายพื้นที่การทำนาของเขาออกไป จึงได้เที่ยวหาและจับจองที่ดินรกร้างว่างเปล่าแห่งหนึ่ง และถากถางที่แห่งนั้นเป็นที่นาของตน ซึ่งที่ดินแห่งนี้เมื่อในอดีตเคยเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของเศรษฐีผู้มั่งคั่งมาก่อน
ชายหนุ่มได้ออกไปไถนาตามลำพังอยู่ทุกวัน จนกระทั่งวันหนึ่งขณะที่กำลังไถนาอยู่นั้น ผาลไถ ก็ไปสะดุดติดอยู่กับของแข็งๆ ท่อนหนึ่งในดิน วัวที่เทียมไถไม่สามารถลากต่อไปได้ จึงหยุดยืนนิ่งอยู่กับที่
เมื่อแรก เขาคิดว่าเป็นรากไม้ จึงเอามือขุดคุ้ยก้อนดินเป็นหลุมลึกดู แทนที่จะเป็นรากไม้อย่างที่คิดกลับเป็นแท่งทองคำขนาดใหญ่เท่าโคนขา ยาวประมาณถึง 4 ศอกฝังอยู่ในดิน
ทองคำแท่งนี้ เศรษฐีเจ้าของบ้านคนเดิมได้ฝังซ่อนไว้ แล้วอพยพครอบครัวไปอยู่ที่อื่นเวลาผ่านไปนานแสนนาน จนบ้านเรือนผุพังราบไป เหลือแต่เศษอิฐ เศษไม้ กลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่า


ขณะนั้นเพิ่งจะบ่ายคล้อย ยังมีเวลาเหลือพอทำงานได้อีกมาก ชาวนาผู้รักงานจึงค่อยๆ ถอนคันไถ ให้หลุดพ้นจากแท่งทองคำที่ทอดขวางอยู่นั้น แล้วโกยดินกลบท่อน ทองคำล้ำค่านั้นไว้จนมิดดังเดิม
เขาก้มหน้าก้มตาโถนาต่อไป โดยไม่คิดหยุดงาน จนกระทั่งโพล้เพล้ได้เวลากลับบ้านเขาจึงหยุดทำงาน เก็บสัมภาระต่างๆ มีแอกไถ เป็นต้น วางแอบไว้ที่โคนต้นไม้ใหญ่แล้วย้อนกลับไปยังที่ฝังแท่งทองคำ คุ้ยดินออก ตั้งใจจะแบกกลับบ้าน แต่ทองแท่งนั้นทั้งใหญ่ ทั้งมีน้ำหนักมาก เกินกำลังจะแบกหามไปได้ เขาจึงนั่งตรึกตรองคิดหาวิธีที่ดีที่สุด


ด้วยความฉลาดรอบคอบ และมองเห็นการณ์ไกลเยี่ยงบัณฑิตเขาจึงคิดว่า ควรจะแบ่งแท่งทองนี้ออกเป็นสี่ส่วน
ส่วนที่หนึ่ง     สำหรับขาย นำทรัพย์มาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องให้สุขสบายตามสมควร
ส่วนที่สอง     ฝังไว้ที่เดิม เก็บไว้ใช้ยามขัดสน เจ็บไข้
ส่วนที่สาม     สำหรับเป็นทุนทำไร่ทำนา และค้าขาย
ส่วนที่สี         สำหรับทำบุญให้ทาน
เมื่อกำหนดในใจได้อย่างนี้แล้ว เขาจึงตัดทองคำออกแบกกลับบ้านคราวละท่อนๆนำไปใช้ตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้แต่แรก โดยไม่มีความห่วงกังวลว่า ในแต่ละวัน ทองคำส่วนที่กลบดินซ่อนไว้จะสูญหายไปหรือมีใครอื่นบังเอิญมาพบ 
แต่ถึงกระนั้น เพื่อความปลอดภัยไม่ประมาท ชาวนาผู้รอบคอบจึงตั้งใจสำรวมระวัง ไม่ปริปากแพร่งพรายเรื่องนี้ให้ใครทราบ แม้แต่กับลูกเมีย เพราะเกรงว่า คนในครอบครัวจะเก็บความลับไว้ไม่อยู่หรือเผลอสติฟุ้งเฟ้อให้ชาวบ้านสงสัยไต่ถาม หากความลับแตกก็จะไม่พ้นอันตรายจากโจรผู้ร้าย
ยิ่งกว่านั้น แม้แต่การจับจ่ายใช้สอยภายในบ้าน ก็ยังควบคุมไว้ให้เป็นไปตามปกติ จนไม่มีใครในหมู่บ้านล่วงรู้เบื้องหลังในความเป็นผู้มั่งมีของเขาเลย นอกจากจะเข้าใจเอาเองว่า เป็นเพราะความขยันขันแข็งในการทำงานของเขา
การประชุมชาดก
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาจบแล้วได้ ตรัสพระคาถาเสริมขึ้นว่า
“ นรชนใด มีจิตร่าเริงแล้ว มีใจเบิกบานแล้ว
บำเพ็ญธรรมเป็นกุศล เพื่อบรรลุความเกษมจากโยคะ
นรชนนั้น พึงบรรลุความสิ้นสังโยชน์ทุกอย่างได้โดยลำดับ”

ครั้นแล้วจึงทรงประชุมชาดกว่า
ชายชาวนา     ได้มาเป็นพระองค์เอง

ข้อคิดจากชาดก
1. ผู้ที่เป็นครู อาจารย์ เป็นพ่อแม่ เป็นผู้บังคับบัญชา ล้วนมีหน้าที่ต้องให้การสั่งสอนอบรมผู้น้อย ตามหน้าที่ของตน
เมื่อจะสั่งสอนใคร ให้ตระหนักอยู่เสมอว่า ความสามารถในการเรียนรู้ การรับคำสอนของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับพื้นฐานหลายอย่าง ก่อนสอน จึงต้องศึกษาอัธยาศัยของผู้รับคำสอนเสียก่อนแล้วพลิกแพลงวิธีการให้เหมาะสม มิฉะนั้น จะกลายเป็นยัดเยียดคำสอน ก่อให้เกิดอารมณ์ขุ่นมัว ตอบโต้ออกมาในทางลบ

อย่างไรก็ดี เนื่องจากโดยทั่วไป เราไม่รู้วาระจิตของผู้อื่นจึงมีปัญหาในการสอน การอธิบายอยู่เสมอ เพื่อจะผ่อนหนักให้เป็นเบา ก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อม โดยฝึกตนให้เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติ 4 ประการคือ
     1. แตกฉานในการขยายความ ให้เหมาะกับอัธยาศัยของ   ผู้ฟัง แต่ละประเภท
     2. แตกฉานในการย่อความ ให้ได้ความสำคัญ และทันเวลา
     3. แตกฉานในการพูดโน้มน้าวให้สนใจ ด้วยคำคมและให้กระหายใคร่ติดตาม ด้วยคำทิ้งท้าย
    4. มีปฏิภาณไหวพริบ ในการถามและตอบปัญหา
2. ถ้าต้องการให้งานใหญ่สำเร็จ ต้องรู้จักแบ่งงานเป็นส่วนย่อย แล้วมอบงาน มอบอำนาจหน้าที่ ให้เหมาะสมตามความรู้ ความสามารถของผู้รับงาน และต้องระวังรักษาความยุติธรรมให้จงดีอย่ารวบงานไว้คนเดียว  
3. ผู้นำต้องฉลาดในการเก็บความลับด้วย เรื่องบางอย่างบอกไม่ได้ แม้แต่ลูกเมีย
 อธิบายคำศัพท์
กาญจนักขันธชาดก  (อ่านว่า กาน-จะ-นัก-ขัน-ทะ-ชา-ดก)
กาญจน                     ทองคำ
ขันธ                          ลำ, ท้อน
ผาล                           เหล็กสำหรับสวมหัวหมูเครื่องไถ
โยคะ                     ความติด, ความประกอบ, กิเลสอันเป็นเครื่องประกอบ,
                             ธรรมเครื่องประกอบ
สังโยชน์              กิเลสอันเป็นเครื่องผูกรัด
พระคาถาประจำชาดก
โย ปหฏฺเฐน  จิตฺเตน          ปหฎฺฐมนโส  นโร
ภาเวติ  กุสลํ  ธมฺมํ            โยคกฺเขมสฺส  ปตฺติยา
ปาปุเณ  อนุปุพฺเพน           สพฺพสํโยชนกฺขยํ.
นรชนใด มีจิตร่าเริงแล้ว มีใจเบิกบานแล้ว
บำเพ็ญธรรมเป็นกุศล เพื่อบรรลุความเกษมจากโยคะ
นรชนนั้น พึงบรรลุความสิ้นสังโยชน์ทุกอย่างได้ โดยลำดับ.

ที่มา :  มก. เล่ม ๕๕ หน้า ๑๗๐


กราบขอบพระคุณทุกส่วนที่ทำให้บลอคสมบูรณ์
พระธรรมเทศนาโดยหลวงพ่อทัตตชีโว บางส่วนจากหนังสือนิทานชาดกอันดับที่ 6 
เรื่องกาญจนักขันธชาดก หน้า 57-65
ภาพประกอบ

4 ความคิดเห็น:

  1. สาธุ ขอกราบอนุโมทนาบุญ

    ตอบลบ
  2. ปลื้มๆ ยิ่งอ่านก็ยิ่งปลื้มที่เราเกิดมาได้พบพระพุทธศาสนา ได้มีพระบรมศาสดาที่ยิ่งด้วยปัญญายิ่ง ซึ่งท่านมีคุณอันไม่มีประมาณ สาธุเจ้าค่ะ

    ตอบลบ
  3. อนุโมทนาบุญกับบทความดีๆด้วยครับ!

    ตอบลบ
  4. กราบอนุโมทนาบุญด้วยครับ สาธุครับ

    ตอบลบ

ประโยชน์ที่ได้รับ...จากการทำสมาธิ

    สมาธิก่อให้เกิดประโยชน์อย่างไรบ้าง บางคนหากไม่ได้สังเกตก็อาจไม่ทันรู้ตัวว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองนั้นเป็นผลมาจากสติปั...