วันนี้ขอนำโอวาทอันทรงคุณค่าของหลวงพ่อทัตตชีโว
ได้เมตตาแนะนำสั่งสอนลูกศิษย์ไว้เพื่อเป็นแนวทางในการฝึกตัวเองให้เป็นชาวพุทธที่เข้มแข็งมาแบ่งปัน โปรดติดตามอ่านได้เลย
ในการฝึกความเป็นชาวพุทธให้เข้มแข็ง สิ่งแรกที่ต้องมองให้ออกก่อนก็คือนิสัยทั้งดีและไม่ดีของตัวเราเอง
โดยเฉพาะนิสัยพาลกับนิสัยบัณฑิตที่มีอยู่ในตัวเรา
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า คนในโลกนี้
ถ้าแบ่งออกแล้วจะได้สองกลุ่มใหญ่ กลุ่มหนึ่งเรียกว่า “คนพาล” อีกกลุ่มหนึ่งเรียกว่า
“บัณฑิต” * พาลปัณฑิตสูตร,
สํ.นิ. 16/19/32-33 (มจร.)
1.ความแตกต่างระหว่างคนพาลกับบัณฑิต
ถามว่า “คนพาล” กับ “บัณฑิต” ต่างกันอย่างไร
“คนพาล” กับ “บัณฑิต”
วัดกันที่ความหล่อความสวยใช่ไหม...ไม่ใช่
วัดที่การศึกษาใช่ไหม...ไม่ใช่
วัดกันที่ยศใช่ไหม...ไม่ใช่
วัดกันด้วยความรวยใช่ไหม...ไม่ใช่
ติดเครื่องหมายบอกว่า หน้าตาอย่างนี้คนพาล
หรือหน้าตาอย่างนี้บัณฑิต ใช่ไหม...ไม่ใช่
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
คนพาลกับบัณฑิตนั้น มีความต่างกันอยู่ตรงที่ “ใจ”
*ยมกวรรคที่
1, ขุ.ธ. 40/11/1-2(มมร.)
การเป็นคนพาลหรือบัณฑิตไม่ได้อยู่ที่รูปร่าง
หน้าตา การศึกษา ยศ ตำแหน่ง ฐานะทางสังคม ทรัพย์สินเงินทอง หรือเพศภาวะ
ทุกคนมีโอกาสเป็นคนพาลหรือบัณฑิตได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือเป็นพระ
2.กำลังของคนพาลกับบัณฑิต
พระพุทธองค์ตรัสไว้ชัดเจนว่า ลักษณะของคนพาลที่ปรากฏให้เห็น
คือ มีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง เป็นพวกชอบการจับผิดคนอื่น
ส่วนลักษณะของบัณฑิตมีการแก้ไขปรับปรุงตนเองเป็นกำลัง*ฐานสูตร,
องฺ.จตุกฺก. 35/115/310-311 (มมร.)
บุคคลที่อยากรู้ว่า ตนเป็นคนพาล
หรือเป็นบัณฑิต ครั้นเมื่อไปส่องกระจกดู ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แก่ใจตนว่า
มีเชื้อพาลอยู่เต็มตัว แต่พอเห็นเงาตัวเองเท่านั้น กลับกลายเป็นหลงไปว่า
ตัวเองเป็นบัณฑิตกันทุกคน
3.ทุกคนมีทั้งเชื้อพาลและบัณฑิตอยู่ในตัวผลัดกันขึ้น
ๆ ลง ๆ
พวกเราคงต้องมาพินิจพิจารณาตัวเองกันให้ดี
เพราะอันที่จริงแล้วทุกคนต่างมีเชื้อพาลและบัณฑิตอยู่ในตัวด้วยกันทั้งสิ้น
ถ้าทุกคนมีความเป็นบัณฑิตบริบูรณ์ไม่มีข้อบกพร่องเลย
วันนี้เราคงไม่ได้มาเจอหน้ากันแถวนี้ คงหมดกิเลส เข้านิพพานกันไปหมดแล้ว
แต่พวกเรายังมานั่งอยู่ที่นี่ เพราะยังมีเชื้อพาลหลงเหลืออยู่
อย่างไรก็ตาม ถ้าเราเป็นคนพาลคนเลวจริง ๆ
ไม่มีเชื้อดีอยู่เลย ก็คงไม่อุตส่าห์มาวัดกันอยู่เป็นประจำหรอก
แต่เพราะเรารู้ตัวว่านิสัยบางอย่างของเรายังไม่ดี คือมีเชื้อพาลปนอยู่เหมือนกัน
เราจึงตั้งใจเข้าวัดปฏิบัติธรรมกัน เมื่อพบว่ามีอะไรบกพร่อง
ก็พยายามแก้ไขปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นเรื่อยไปโดยไม่ย่อท้อ
พฤติกรรมเหล่านี้ย่อมแสดงว่าในตัวของพวกเรานั้น
ก็ยังมีทั้งเชื้อพาลและเชื้อบัณฑิตปะปนกันอยู่ เดี๋ยวก็ขึ้นเดี๋ยวก็ลง
เดี๋ยวก็ดีเดี๋ยวก็ร้าย ผลัดกันขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่อย่างนี้ นี่คือความจริงที่พวกเรามองข้ามไม่ได้
เพราะฉะนั้น เราต้องตั้งใจฝึกความเป็นชาวพุทธของตัวเราให้เข้มแข็ง โดยการเพิ่มพูน
“วิสัยบัณฑิต” ให้แก่ตัวเราเอง
ความหมายของวิสัยบัณฑิต
วิสัย แปลว่า ความสามารถ ความชำนาญ
บัณฑิต แปลว่า ผู้มีใจผ่องใสเป็นปกติ
วิสัยบัณฑิต แปลว่า
ผู้มีความชำนาญในการรักษาใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสเป็นปกติ
ไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ร้ายหรือดีเพียงใดก็ตาม
จากคำแปลนี้ได้ส่องทางให้เราเห็นเป้าหมายฝึกตัวเองไว้อย่างชัดเจนว่า
ข้อสำคัญของวิสัยบัณฑิตนั้น
อยู่ที่การฝึกความสามารถจนมีความชำนาญในการรักษาความผ่องใสของใจไว้ได้ในทุกสถานการณ์นั่นเอง
ทำอย่างไรเราถึงจะเพิ่มวิสัยบัณฑิตหรือเพิ่มความผ่องใสให้ใจของตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง
?
มีบทฝึกอยู่สองวิธี
ซึ่งจะต้องฝึกควบคู่กันไป คือ “บทฝึกส่วนบุคคล” กับ “บทฝึกแบบเป็นทีม”
พระธรรมเทศนาโดย...หลวงพ่อทัตตชีโว
เรามาศึกษา
"บทฝึกส่วนบุคคล" และ "บทฝึกแบบเป็นทีมได้ในตอนต่อไปนะคะ
ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูง :
พระธรรมเทศนาโดยหลวงพ่อทัตตชีโว เรื่อง คนพาลกับบัณฑิตต่างกันอย่างไร ?
น้อมกราบอนุโมทนาสาธุครับ
ตอบลบอนุโมทนาบุญกับบทความที่ให้ข้อคิดดีๆแบบนี้ด้วยครับ
ตอบลบสาธุ สาธุ สาธุ
ตอบลบ