วันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ยืมเงินทำบุญ...เมื่อบุญส่งผลจะเป็นเช่นไร?







วันนี้เรามาศึกษาในเรื่องการยืมเงินทำบุญ ว่าจะมีผลอย่างไรต่อการทำบุญ กรณีว่ายืมแล้วคืนครบกับยืมแล้วไม่มีเงินคืนแต่เจ้าของเงินยกหนี้ให้ว่าจะมีผลอย่างไรเมื่อบุญส่งผล เรามาศึกษากันเลย


สาธุชน:
การที่ไม่มีเงินแต่อยากทำบุญมากและไปขอยืมเงินเขามาทำบุญ เป็นการทำถูกหรือไม่ การทำแบบนี้บุญจะเกิดกับเราทันทีที่ทำหรือจะเกิดตอนที่เราใช้หนี้เขาหมดแล้ว และสมบัติที่จะบังเกิดกับเราในกรณีนี้จะมีเงื่อนไขอย่างไรหรือไม่ ส่วนอีกกรณีหนึ่ง ที่เขาเต็มใจให้เรายืมเงินทำบุญ แต่ภายหลังเรายังไม่มีเงินไปใช้เขาสักที เขาก็เลยยกหนี้ให้ ทีนี้ผมสงสัยว่าตอนสมบัติเกิดกับเรา จะมีข้อแม้เงื่อนไขอย่างไร
หลวงพ่อ:
การที่ไม่มีเงินแต่อยากทำบุญมาก แล้วไปขอยืมเงินเขามาทำบุญนั้น ถือว่ายังทำไม่ถูกหลักวิชชาอย่างสมบูรณ์เพราะยังเบียดเบียนตนเองอยู่ จะถูกหลักวิขชาต้องไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ยกเว้นเรารู้ตัวว่า เราสามารถใช้คืนเขาได้และเราได้คืนเขาด้วย เช่น เราไม่ได้นำเงินมาจากที่บ้าน ขอยืมคนที่มาวัดด้วยกันมาทำบุญก่อน กลับไปเราก็เอาไปใช้เขาอย่างนี้ก็ได้ แต่ไม่ใช่เรารู้ว่าเราก็ไม่มีเงินใช้ แต่ก็ไปยืมเขา ถ้าขอลืมอย่างนี้ก็ไม่ถูกหลักวิชชา
บุญจะเกิดขึ้นทันทีที่ทำ แม้ว่าจะเป็นเงินที่เราขอยืมมาก็ตาม แต่ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะเรายังไม่ได้ใช้คืนเขา แต่เมื่อใช้คืนเขาเมื่อใด  จึงจะได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ถือว่าเป็นเงินของเรา


ยืมเงินเขาไปทำบุญ ถ้าไม่ใช้คืนเขา เราก็จะกลายเป็นหนี้เขาเพราะเราทำบุญไปแล้ว บุญได้เกิดขึ้นแล้ว เวลาสมบัติเกิดขึ้นกับเราก็จะมีเหตุให้ไม่ได้ใช้สมบัติ เช่น ถูกยึด ถูกจี้ ถูกปล้น น้ำท่วม ไฟไหม้ หรือ ถูกรางวัลที่ 1 แต่ช็อกตาย แต่ถ้าใช้คืนเขา เวลาสมบัติเกิดขึ้นก็สามารถใช้สมบัตินั้นได้อย่างเต็มที่ เพราะเป็นบุญของเรา
เขาเต็มใจให้เรายืมเงินมาทำบุญ แต่ภายหลังเราก็ไม่มีเงินใช้คืนเขาสักที คือ เราก็อยากใช้ แต่มันก็ไม่มี เขาสงสารก็เลยยกหนี้ให้ เมื่อบุญส่งผลก็จะได้เกิดใต้ใบบุญเขา คือ จะมีกินมีใช้ก็ต้องไปเป็นบริวารเขา

หลวงพ่อคุณครูไม่ใหญ่
29 ตุลาคมพ. ศ. 2554

พอเข้าใจในเรื่องของการยืมเงินเขามาทำบุญแล้วนะคะ ยืมเสร็จก็ต้องขวนขวายหามาใช้คืนเขา เพื่อเราจะได้เป็นใหญ่ในสมบัติ(เจ้าของทรัพย์ไม่ใช่ไปเป็นบริวารเขา)ที่บังเกิดด้วยผลแห่งบุญที่เราทำนะคะ สาธุค่ะ



ขอกราบขอบพระคุณบทความที่ทำให้บลอคสมบูรณ์
บทความ : หนังสือ"คำตอบ"คุณครูไม่ใหญ่ หน้า152-153

วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

วานรินทชาดก...ชาดกว่าด้วยปฏิภาณในการรักษาตัวรอด


นิทานชาดกเป็นสมบัติล้ำค่าของชาวพุทธ นิทานชาดกมิใช่เรื่องที่แต่งขึ้นเพื่อสอนคุณธรรม แต่นิทานชาดกคือเรื่องในอดีตชาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงแสดงแก่พระภิกษุในโอกาสต่างๆ เพื่อเป็นแบบแผนในการทำความดี หลักธรรมที่ได้จากการรับชมรับฟังนิทานชาดกนี้ สามารถนำไปใช้ให้เป็นคุณประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของตนเองและผู้อื่น

วันนี้ขอนำเสนอวานรินทชาดก...ชาดกว่าด้วยเรื่องปฏิภาณในการรักษาตัวรอด


cr.หนังสือนิทานชาดกอันดับที่ 6

สถานที่ตรัสชาดก
เชตวันมหาวิหารนครสาวัตถี 
สาเหตุที่ตรัส
นับแต่เมื่อพระบรมศาสดาทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นต้นมา พระองค์มิได้ทรงอยู่นิ่งเฉยเสด็จจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังที่ต่างๆ พร้อมด้วยพระอรหันตสาวกซึ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกทีๆ อยู่มิได้ขาดยังความเลื่อมใสศรัทธาให้เกิดแก่มหาชนอย่างเหลือล้น ที่ตัดสินใจออกบวชตามพระพุทธองค์ก็มาก ที่ตั้งใจประพฤติธรรมบำเพ็ญเพียรในฐานะอุบาสก อุบาสิกา ก็ยิ่งมากเหลือคณานับ
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง พระเทวทัตผู้มีจิตใจริษยาพระพุทธองค์ ฝังลึกในกมลสันดานมาช้านาน  ได้พยายามก่อการบ่อนทำลายความเลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ที่มีต่อสมเด็จผู้มีพระภาค ในทุกวิถีทางอย่างไม่ลดละ



คราใดที่พระสงฆ์สาวกได้ทราบข่าวพระเทวทัตวางแผนร้าย ถึงขั้นลอบปลงพระชนม์พระพุทธองค์ ครานั้นพระภิกษุทั้งหลายก็พากันสะดุ้งหวาดกลัว วิตกกังวลราวกับชีวิตจะสิ้นเสียเอง ต่างพากันกราบทูลให้ทรงระมัดระวังพระองค์ให้จงหนัก และยังอาสาป้องกันพระพุทธองค์ ด้วยประการต่างๆ แม้ด้วยชีวิต
พระบรมศาสดาผู้ไม่เคยสะทกสะท้านต่อมรณภัย คือความตาย มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว กลับทรงปลอบโยนบรรดาพระภิกษุให้คลายวิตกกังวลอยู่เสมอๆ และไม่ทรงอนุญาตให้ผู้ใด แก้ข่าวหรือขัดขวางการกระทำของพระเทวทัตด้วยประการใดๆ ทั้งสิ้น ถึงกระนั้นก็ตามพระสงฆ์สาวกส่วนหนึ่ง ซึ่งมีความห่วงใยในพระพุทธองค์ไม่มีที่สิ้นสุด ก็ยังอดมิได้ที่จะจับกลุ่มสนทนาปรับทุกข์ ถึงเรื่องทำนองนี้อีกในโรงธรรมสภา ณ พระเชตะวันมหาวิหาร
วันหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จผ่านมาได้ยินเข้าพอดี ทรงเข้าพระทัย และซาบซึ้งในความจงรักภักดีของพระสงฆ์สาวกอยู่เสมอ จึงทรงแวะเข้าทักทายและปลอบโยนให้คลายความวิตกกังวล ทรงกล่าวยืนยันว่า  
“ ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่พระเทวทัตตะเกียกตะกายจะฆ่าเรา แม้ในกาลก่อนโน้น ก็เคยตะเกียกตะกายเช่นนี้มาแล้วเหมือนกัน แต่ก็ไม่อาจกระทำเหตุแม้เพียงความสะดุ้งให้เกิดแก่เราเลย”
ตรัสดังนี้แล้ว ก็เสด็จเลยไปประทับ ณ พุทธอาสน์ ท่ามกลางสงฆ์ทั้งหลาย ทรงระลึกชาติแต่หนหลังด้วยบุพเพนิวาสานุสติญาณ แล้วตรัสเล่า  วานรินทชาดก มีเนื้อความโดยละเอียดว่า
เนื้อหาชาดก
ในอดีตกาล นานนับอสงไขยกัป สมัยเมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติ ณ กรุงพาราณสี ในครั้งนั้นมี วานรโทนตัวหนึ่งอาศัยอยู่ในป่าใหญ่ใกล้แม่น้ำแห่งหนึ่ง เมื่อเจริญวัยเต็มที่ วานรก็มีร่างกายใหญ่โตกำยำประมาณเท่าลูกม้าย่อมๆ เรี่ยวแรงแข็งขันดังพญาช้างสาร ผิดกว่าวานรใดๆ ทั้งสิ้น ในเวลาท่องเที่ยวหากินอยู่ตามลำพังแถบชายน้ำ ก็อาศัยความเฉลียวฉลาด และความคล่องแคล่วว่องไว เสาะหาผลไม้รสเลิศนานาชนิด มาขบกินได้อย่างอิ่มหนำสำราญทุกวัน

แม่น้ำสายที่ไหลผ่านป่าแห่งนี้เป็นแม่น้ำที่กว้างใหญ่มาก มีเกาะกลางน้ำอยู่เกาะหนึ่งอุดมด้วยผลไม้นานาชนิด สัตว์บกอื่นใดในป่าไม่อาจข้ามไปกินได้ นอกจากพญาวานรตัวนี้เท่านั้น
แต่ถึงแม้พญาวานรจะมีกำลังมาก สามารถเผ่นโผนกระโจนไปได้ในระยะไกลๆ เพียงใด เมื่อต้องการไปที่เกาะกลางน้ำนั้นก็ยังไม่สามารถกระโจนข้ามไปถึงได้รวดเดียว ต้องหาที่พักเท้าแล้วกระโจนต่อไปอีกทอดหนึ่ง จึงถึงเกาะได้
พญาวานรใช้ความฉลาดรอบคอบ และความช่างสังเกตเลือกได้โขดหินแผ่นราบโขดหนึ่ง ซึ่งโผล่อยู่กลางลำน้ำระหว่างเกาะคะเนว่าได้ระยะพอดี ก็ใช้โขดหินนั้นเป็นที่พักเท้ากระโจนข้ามไปหาผลไม้รสเลิศที่เกาะนั้นกินเป็นประจำ 
ในครั้งนั้นเอง ที่แม่น้ำย่านนี้มีจระเข้ ๒ ตัวผัวเมีย อาศัยหากินอยู่ใกล้ๆ เกาะ คอยดักจับสัตว์น้อยใหญ่ที่เผลอตัวชะล่าใจลงมาเพลินกินน้ำ เล่นน้ำ ตามชายฝั่ง ไปเป็นอาหารอยู่เนืองๆ
คราวหนึ่งนางจระเข้เกิดแพ้ท้อง อารมณ์ขุ่นมัว อยากกินนั่นอยากกินนี่สารพัด เมื่อได้สิ่งนั้นมาแล้ว ก็อยากกินสิ่งโน้นเรื่อยไป วันหนึ่งขณะที่นอนหมอบอยู่ชายฝั่ง นางก็เหลือบเห็นพญาวานรกระโจนข้ามแม่น้ำไปหากินที่เกาะเช่นเคย บุพกรรมในชาติปางก่อน ได้ชักนำให้นางอยากกินหัวใจวานรขึ้นมาทันที จนอดรนทนไม่ได้เฝ้ารบเร้าอ้อนวอนกับสามีว่า



 “ พี่จ๋า น้องอยากกินหัวใจของเจ้าลิงตัวนั้นเหลือเกิน พี่จับมันมาให้น้องหน่อยเถอะ ถ้าน้องไม่ได้กินหัวใจลิง น้องคงต้องตายแน่ๆ สงสารน้องเถิดนะจ๊ะ”
 นางจระเข้เฝ้ารบเร้าอ้อนวอน ฟาดหัวฟาดหางเซ้าซื้อยู่อย่างนั้น จนจระเข้สามีทั้งรำคาญ ทั้งสงสาร ในที่สุดจึงรับปากว่าจะพยายามจับพญาวานรมาควักเอาหัวใจ มาให้นางกินให้สมใจให้ได้

จากนั้น พญาจระเข้ก็ไปหลบซุกอยู่ชายฝั่งแม่น้ำ สังเกตดูลู่ทางที่จะจับพญาวานรให้ได้ ครั้นเห็นความคล่องแคล่วว่องไวของพญาวานรแล้วก็ชักท้อใจว่า คงจับไม่ได้ง่ายๆ แต่เมื่อหวนคิดถึงอาการคร่ำครวญของนางจระเข้แล้ว ก็ไม่อาจเลิกล้ม ความตั้งใจเสียกลางคันเฝ้าตรองหาอุบายอันแยบคายต่างๆ ในที่สุดก็คิดอุบายได้อย่างหนึ่ง จึงรีบดำเนินการตามแผนนั้นทันที
ในตอนบ่ายวันรุ่งขึ้น พญาจระเข้ก็แอบคลานขึ้นไปนอนหมอบนิ่งอยู่บนแผ่นหิน  ซึ่งพญาวานรใช้เป็นที่พักเท้ากระโดดรอเวลาที่เหยื่อของตนจะกลับมาจากหากินในตอนเย็น



จระเข้ร้ายนอนนึกกระหยิ่มอยู่ในใจว่า
“ ประเดี๋ยวเถิด พอเจ้าวานรหน้าโง่มันโดดผลุงลงมาบนหลังเรา เราจะสลัดมันลงน้ำ ตามขย้ำฉีกเนื้อกินเสียให้อิ่มแปล้ทีเดียว  แล้วค่อยเอาหัวใจมันไปฝากเมียเรา” 

ดังนั้น แม้แสงแดดยามบ่ายจะร้อนแรงเพียงใด พญาจระเข้ก็อดทนหมอบนิ่งไม่กระดุกกระดิก ซุกหัวหางอย่างดี ด้วยเกรงว่าจะเป็นพิรุธให้พญาวานรสังเกตได้
พอตกเย็น พญาวานรเที่ยวเก็บกินผลไม้จนอิ่มหนำสำราญดีแล้ว ก็มุ่งหน้ากลับที่อยู่ของตน ขณะเดินเลาะอยู่ริมฝั่งแม่น้ำพลางเล็งมองไปที่โขดหินเพื่อประมาณกำลังกระโดดให้ได้ระยะพอดีด้วยความช่างสังเกตจึงเห็นว่า แผ่นหินนั้นแปลกตาไปกว่าทุกวันแล้วเริ่มตรึกตรองพิจารณาว่า

“ ทำไมหนอ วันนี้แผ่นหินจึงโผล่พ้นน้ำมากนัก และดูคล้ายกับว่าจะมีขนาดใหญ่กว่าเดิมอีกด้วย ทั้งๆ ที่น้ำก็ไม่ได้ลดลงสักนิด ชะรอย จะมีจระเข้เจ้าเล่ห์สักตัว  ขึ้นมารอดักจับเราอยู่บนแผ่นหินนั้นเสียแล้ว”
คิดสงสัยดังนี้แล้วด้วยความไม่ประมาท พญาวานรเจ้าปัญญาก็วางอุบายทดสอบพิรุธศัตรูทันที โดยแสร้งตะโกนเรียกแผ่นหิน ด้วยเสียงอันดังว่า
“ แผ่นหินเอ๊ยๆๆ!” ถึง ๓ ครั้ง
แผ่นหินไม่มีชีวิตจะตอบได้อย่างไร แต่พญาวานรก็แสร้งเรียกซ้ำๆ อยู่อย่างนั้น ด้วยสำเนียงอันแสดงความคุ้นเคยเป็นอย่างดี
พญาจระเข้ได้ยินแล้วก็เฉยอยู่เพราะลังเลใจว่า ตั้งแต่จำความได้ยังไม่เคยรู้เห็นว่าก้อนหินก้อนใดพูดได้เลย พญาวานรก็สานอุบายต่อไป โดยแสร้งพูดตัดพ้อว่า
 “ แผ่นหินเอ๊ย ... วันนี้เป็นอะไรไป เรียกแล้วจึงไม่ขานรับเหมือนทุกวัน” 
เท่านี้เอง พญาจระเข้ก็หลงกลเพราะความรู้และความช่างสังเกตตัวมีน้อย หลงคิดเอาเองว่า พญาวานรกับแผ่นหินนี้คงเคยพูดเล่นเจรจากันทุกวัน นี่เพราะตนมานอนทับเสีย แผ่นหินจึงพูดไม่ได้ เห็นทีจะต้องขานรับแทนแผ่นหินเสียแล้ว คิดดังนี้ แล้วก็พยายามดัดเสียงให้ผิดไปจากธรรมดา ขานรับพญาวานรว่า
“ ว่าไงหรือพ่อวานร...”
ในที่สุดความลับก็แตกเพราะความโง่เขลาเบาปัญญาของพญาจระเข้แท้ๆ พญาวานรนั้นถึงแม้จะเดาได้ว่า ศัตรูที่รอท่าอยู่เป็นจระเข้ แต่เพื่อความแน่ใจ จึงตะโกนย้อนถามกลับไปว่า
“ เจ้าเป็นใคร มานอนขวางอยู่อย่างนี้ต้องการอะไรหรือ” 
พญาจระเข้รู้ตัวว่าพลาดท่าตกหลุมพรางพญาวานรเข้าให้แล้วก็เสีย เจ็บใจตัวเองยิ่งนัก แต่ก็ยังไม่สิ้นหวังเสียทีเดียว เพราะรู้ว่าถึงอย่างไรๆ พญาวานรก็ต้องอาศัยแผ่นหินนี้เป็นทางผ่านกลับที่เดิม อย่างไม่มีทางเลี่ยงจึงแสร้งพูดข่มขู่แก้เก้อ เย้ยกลับไปว่า
“ จ้าวานรชะตาขาด เราเป็นจระเข้ กำลังคอยกินเนื้อหัวใจเจ้าอยู่นี้แล้วไง... "
พญาวานรรู้ตัวว่าเข้าตาจน ไม่มีทางกลับทางอื่นนอกจากทางเดิม ซึ่งไม่ว่าวันนี้หรือวันใหนๆ เจ้าจระเข้ตัวร้ายก็คงวนเวียนเฝ้าโขดหินคอยจ้องทำร้ายอยู่ ไม่ยอมเลิกละแน่นอน
จึงวางอุบายเอาตัวรอด โดยแสร้งทรุดตัวลงนั่งกอดเข่าเจ่าจุกอยู่สักครู่หนึ่ง แล้วทำเป็นตัดใจได้ ลุกขึ้นพูดกับจระเข้ด้วยท่าทีปลงตกว่า
“ จระเข้เอ๋ย... เราปลงตกแล้ว วันนี้เราจะทำบุญใหญ่สละหัวใจให้ท่าน ท่านจงอ้าปากคอยงับเรานะ เราจะกระโดดเข้าไปหาท่านเดี๋ยวนี้แหละ” 
พญาจระเข้ไม่รู้กลลวง คิดเอาจากท่าทีก็หลงเชื่อว่าพญาวานรจะยอมสละชีวิตแก่ตนจริงๆ จึงพาชื่อ อ้าปากคอยอยู่ลืมเฉลียวใจนึกถึงธรรมชาติของตัวเองเสียสนิทว่า เมื่อปากอ้าตาก็จะปิดสนิทโดยอัติโนมัติ



ส่วนพญาวานรรู้หลักธรรมชาตินี้ดี เพราะนิสัยช่างสังเกตเคยแอบดูจระเข้นอนอ้าปากเกยหาดอยู่บ่อยๆ 

ดังนั้น ทันทีที่พญาจระเข้อ้าปาก ก็รีบเผ่นลิ่วลงเหยียบหัวจระเข้ได้อย่างเหมาะเจาะ แล้วถีบตัวข้ามต่อยังฝั่งตรงข้ามในชั่วพริบตา รวดเร็วราวสายฟ้าแลบ

พญาจระเข้รู้สึกถึงแรงกระแทกนั้นก็ตกใจ หุบปาก ลืมตาขึ้นทันทีเหมือนกัน แต่ก็ช้าไป  เพราะพญาวานรนั่งอยู่บนฝั่งอีกด้านหนึ่งเสียแล้ว  มันเสียใจและอับอายที่หลงกลพญาวานร แต่แล้วก็หวนคิดอัศจรรย์ว่า
“...พญาวานรตัวนี้ มีสติปัญญาฉลาดหลักแหลม แกล้วกล้าเด็ดเดี่ยวจริงหนอ ชะรอยจะเป็นผู้ทรงคุณธรรมล้ำเลิศ อันสามารถครอบงำศัตรูได้เป็นแน่แท้” 



เมื่อคิดรำพึงดังนี้แล้วความแค้นเคืองที่เสียรู้ และความเสียใจที่เกิดขึ้นเมื่อสักครู่ก็พลันเหือดหายไปสิ้น กลับนึกรักในน้ำใจพญาวานรแล้วกล่าวสรรเสริญด้วยความจริงใจว่า

“ พญาวานรผู้เจริญ ธรรมะ 4 ประการเหล่านี้คือ สัจจะ ธรรมะ ธิติ และจาคะ มีแก่บุคคลใด เหมือนมีแก่ท่าน บุคคลนั้นย่อมพ้นศัตรูได้
ท่านมี สัจจะ คือความจริงใจ เมื่อพูดว่าอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ทำอย่างไรก็พูดอย่างนั้น ไม่โป้ปดมดเท็จ ท่านได้กระโดดเข้ามาหาเราจริงๆ ไม่ได้กล่าวเท็จเลย แต่เพราะความชักช้ามืดบอดของเราเองจึงจับท่านไม่ได้
ท่านมี ธรรมะ  คือความเป็นผู้มีวิจารณญาณสั่งสมมามากจนรู้ว่าเมื่อทำอย่างนี้แล้ว จะต้องมีผลอย่างนั้นไม่มีพลาด
ท่านมี ธิติ คือมีความขยันหมั่นเพียรไม่ท้อถอย แม้ยังมองไม่เห็นทางสำเร็จ ก็ไม่ทอดอาลัยตายอยาก ยังตั้งอยู่ในความเพียรไม่ลดละ
ท่านมี จาคะ คือกล้าเสี่ยงสละชีวิตเป็นเดิมพัน เพื่อให้งานสำเร็จ
หากใครมีคุณธรรมครบ 4 ประการดังนี้ ศัตรูแม้จะยิ่งใหญ่เพียงใด  ก็ไม่อาจครอบงำทำอันตรายได้เลย” 

 พญาจระเข้กล่าวสรรเสริญพญาวานรแล้ว ก็คลานลงน้ำดำดิ่งไปยังที่อยู่ของตน ฝ่ายพญาวานรครั้นขึ้นฝั่งได้แล้ว ตั้งแต่นั้นมาก็ท่องเที่ยวหากินอยู่ในเฉพาะป่านั้น ไม่ยอมข้ามไปที่เกาะกลางน้ำอีกเลย จนตลอดอายุขัย



ประชุมชาดก
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดง วานรินทชาดก จบแล้ว 
ทรงประชุมชาดกว่า
พญาจระเข้          ในครั้งนั้น  ได้มาเป็นพระเทวทัต
นางจระเข้                              ได้มาเป็นนางจิญจมาณวิกา
พญาวานร                              ได้มาเป็นพระองค์เอง

ข้อคิดจากชาดก
1.สิ่งที่คนเราต้องพยายามฝึกให้ได้  คือ ความช่างสังเกตุ เพราะคนช่างสังเกต มักรู้ถึงความผิดปกติได้โดยง่าย จึงสามารถป้องกันเหตุร้ายได้ทันท่วงทีเสมอ แม้จะตกอยู่ในอันตราย ก็ยังสามารถเอาตัวรอดได้
วิธีฝึกตนให้เป็นคนช่างสังเกต อาจทำได้ง่ายๆ โดยการหมั่นฝึกสมาธิเป็นประจำทุกคืนก่อนนอน เพราะจะถูกบังคับฝึกสังเกตภาวะจิตใจของตนเอง โดยอัตโนมัติ
2.การนั่งสมาธิให้ได้ผล ต้องฝึกตัวให้มีคุณธรรม 4 ประการ   ด้วย คือ สัจจะ ธรรมะ ธิติ จาคะ

“ เวลานั่ง ต้องนั่ง เป็นสัจจะ
นั่งธรรมะ ด้วยปัญญา หาเหตุผล
ธิติ นั่งเรื่อยไป ไม่ผ่อนปรน
นั่งแม้จน ทอดชีวา เป็นจาคะ” 
อธิบายคำศัพท์
วานรินทชาดก (อ่านว่าวา-นะ-ริน-ทะ-ชา-ดก) 
วานรินท์          พญาวานร, พญาลิง
พระคาถาประจำชาดก  
ยสฺเสเต  จตุโร  ธมฺมา     วานรินฺท  ยถา  ตว
สจฺจํ  ธมุโม  ธิติ  จาโค    ทิฏฺฐํ  โส  อติวตฺตติ.

ธรรม 4  ประการนี้คือ สัจจะ ธัมมะ ธิติ และจาคะ
มีแก่บุคคลใด เหมือนมีแก่ท่าน บุคคลนั้นย่อมพ้นศัตรูไปได้.


ที่มา : ขุ.ชา.อ.  2/57/58




กราบขอบพระคุณ ที่มาของบลอคที่สมบูรณ์ :
พระธรรมเทศนาโดยหลวงพ่อทัตตชีโว จากหนังสือนิทานชาดกอันดับที่ 6 หน้า67-77
ภาพประกอบ จากหนังสือนิทานชาดกอันดับที่ 6
วานรินทชาดก
ภาพประกอบ

วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

กาญจนักขันธชาดก... ธรรมะมีค่าดั่งทอง



นิทานชาดกเป็นสมบัติล้ำค่าของชาวพุทธ นิทานชาดกมิใช่เรื่องที่แต่งขึ้นเพื่อสอนคุณธรรม แต่นิทานชาดกคือเรื่องในอดีตชาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงแสดงแก่พระภิกษุในโอกาสต่างๆ เพื่อเป็นแบบแผนในการทำความดี หลักธรรมที่ได้จากการรับชมรับฟังนิทานชาดกนี้ สามารถนำไปใช้ให้เป็นคุณประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของตนเองและผู้อื่น
วันนี้ขอนำเสนอชาดกเรื่อง กาญจนักขันธชาดก ชาดกว่าด้วยธรรมะอุปมาเสมือนทองคำ ติดตามอ่านกันตอนนี้เลย
สถานที่ตรัสชาดก
เชตะวันมหาวิหารนครสาวัตถี
สาเหตุที่ตรัสชาดก
ครั้งหนึ่งมีชายผู้หนึ่งได้ฟังพระธรรมเทศนาจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วบังเกิดความเลื่อมใสศรัทธาจึงทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระบรมศาสดาทรงโปรดให้พระอุปัชฌาย์จัดการบวชให้ และให้รับไปปกครองดูแล อบรมสั่งสอน
พระภิกษุบวชใหม่รูปนี้ มีกิริยามารยาทเรียบร้อย อ่อนน้อมถ่อมตน และตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม พระเถระผู้ใหญ่หลายท่านจึงเมตตาเอ็นดู ช่วยกันเอาใจใส่อบรมสั่งสอนเป็นพิเศษ ยกหัวข้อธรรมต่างๆ มากมาย มาอธิบายอย่างละเอียดลออ ทั้งกำชับให้ตั้งใจรักษาศีลให้ครบบริบูรณ์อีกด้วย

อันศาสนธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น หากจะแจกแจงรายละเอียดออกไปโดยพิสดาร ก็จะประมวลหัวข้อธรรมได้มากถึง 84,000 พระธรรมขันธ์ แม้ลำพังพระวินัย อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับศีลของพระภิกษุโดยเฉพาะ  ก็ยังมีมากนับได้ถึง 21, 000 ข้อ
พระอุปัชฌาย์และพระอาจารย์ของพระภิกษุบวชใหม่ล้วนไม่รู้จักประมาณกำลังสติปัญญาของลูกศิษย์ มีแต่ความปรารถนาดีจึงกลายเป็นยัดเยียดคำสอนให้โดยไม่รู้ตัว
ดังนั้น เพียงเวลาผ่านไปไม่นาน จิตใจอาจหาญราเร่งมาแต่ต้นของศิษย์ ก็พลันแห้งฝ่อห่อเหี่ยวไปทีละน้อยๆ ในที่สุดท่านก็มาหวนคิดสมเพชตัวเองว่า



“ โอ...ศีลของพระภิกษุ ช่างมีมากมายจริงหนอ... อย่าว่าแต่จะปฏิบัติให้ครบเลย เพียงแค่ชื่อศีล...เราก็ยังจำได้ไม่หมดเสียแล้วขืนบวชอยู่ต่อไปก็ไม่มีประโยชน์ คงเป็นพระภิกษุที่ดีไม่ได้ เพราะศีลบกพร่องสู้สึกออกไปมีเหย้ามีเรือน แล้วหมั่นทำบุญให้ทานรักษาศีลเป็นกำลังของพระศาสนายังจะดีกว่า ... ”

เมื่อคิดตัดสินใจดังนี้แล้ว ท่านก็หอบหิ้วบริขารต่างๆ มีบาตร จีวร เป็นต้น เดินคอตกเข้าไปหาพระอุปัชฌาย์ กราบท่านแล้วบอกคืนบริขารทั้งหมด พร้อมทั้งสารภาพด้วยใบหน้าเศร้าหมองว่าท่านไม่อาจรักษาศีลให้ครบถ้วนได้ ตามที่ท่านอาจารย์บอกจะขอลาสิกขากลับไปเป็นฆราวาสตามเดิม
พระอุปัชฌาย์และพระอาจารย์ ได้ทราบความประสงค์ของลูกศิษย์แล้ว ก็ถึงกับนิ่งอึ้งไป คาดไม่ถึงว่า ความปรารถนาดี การจ้ำจี้จ้ำไชสอนศิษย์ของท่าน จะส่งผลย้อนกลับไปในทางตรงกันข้าม
เมื่อท่านไม่สามารถยับยั้ง หน่วงเหนี่ยว เกลี้ยกล่อมให้เปลี่ยนใจได้ จึงตัดสินใจพาพระภิกษุนั้น ไปเฝ้าพระบรมศาสดา
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบเรื่อง ก็ทรงสอบถามพระอุปัชฌาย์ถึงวิธีการสอนครั้นท่านกราบทูลให้ทรงทราบแล้วพระบรมศาสดาจึงตรัสว่า



“ ดูก่อนภิกษุ เหตุใดเธอจึงบอกศิลแก่ลูกศิษย์มากนักเล่าภิกษุนี้อาจรักษาศีลได้เท่าใดก็พึงให้รักษาเท่านั้นเถิด ต่อไปนี้เธออย่าบอกอะไรๆ แก่ลูกศิษย์รูปนี้อีกเลย ตถาคตจะสอนเอง”
ตรัสแล้วก็ทรงผินพระพักตร์ไปทางพระภิกษุบวชใหม่ทอดพระเนตรเห็นแววระทดระท้อ ระคนเศร้าหมอง ฉาบฉายอยู่บนใบหน้าอย่างท่วมท้น จึงตรัสให้กำลังใจในเชิงผ่อนปรน ด้วยพระสุรเสียงอันอ่อนโยนว่า


“ ภิกษุ ถ้ามีศีลเพียง 3 ข้อ เธอจะรักษาได้หรือไม่...?”
“ ได้พระเจ้าข้า” ภิกษุหนุ่มรีบทูลตอบรับอย่างแข็งขันแววดาพลันกระจ่างใสขึ้นด้วยความหวังทันที
“ ถ้าเช่นนั้น เธอจงอย่าสึกเลย จงรักษาทวารทั้งสามไว้คือ กายทวาร วจีทวาร มโนทวาร คือ ไม่กระทำกรรมชั่วด้วยกาย ไม่กระทำกรรมชั่วด้วยวาจาและไม่กระทำกรรมชั่วด้วยใจ จงรักษาศีล 3 ข้อนี้เท่านั้นเถิด”
ภิกษุ ผู้บัดนี้กลับอาจหาญ ร่าเริง ในการปฏิบัติธรรมอีกครั้งหนึ่ง ด้วยพระกรุณาอันหาที่สุดมิได้ของพระพุทธองค์
จึงน้อมศีรษะลงสมาทานศีลทั้งสามข้อ ด้วยอาการปะหนึ่งได้รับพระราชทานรัตนะ อันมีค่ายิ่งชีวิต บังเกิดความปิติปราโมชเป็นล้นพ้น
 ครั้นแล้วจึงกราบถวายบังคมลากลับไปยังที่อยู่ พร้อมกับพระอุปัชฌาย์และพระอาจารย์
นับแต่วาระนั้นเป็นต้นมา ภิกษุรูปนั้นก็ตั้งใจประคับประคองควบคุม กาย วาจา ใจอย่างเคร่งครัด มิให้เผลอไผลกระทำกรรมชั่วเพียง 2-3 วันต่อมา ดวงจิตของท่านก็พลันผ่องใส ชุ่มชื่นเบิกบานสามารถเข้าถึงธรรมกายอรหัต สำเร็จเป็นพระอรหันต์ หมดกิเลสโดยสิ้นเชิง เป็นที่น่าอัศจรรย์ ท่านถึงกับเปล่งอุทานออกมาว่า


“ เท่านี้เองหนอ...เท่านี้เองหนอ... ศีลตั้งมากมายก่ายกองที่พระอุปัชฌาย์และพระอาจารย์ อ้อมค้อมบอกแก่เราจนเหลือกำลังรับแท้ที่จริงแล้ว พระพุทธองค์ทรงประมวลไว้เพียง 3 ข้อ เท่านี้เอง...”
ข่าวพระภิกษุผู้ร้อนรนจะสึก กลับสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ ด้วยพระปรีชาสามารถในการย่นย่อศีลของพระพุทธองค์ แพร่สะพัดไปทั่วพระอารามในเวลาอันรวดเร็วพระภิกษุทั้งวัดต่างประชุมกันแซ่ซ้องสรรเสริญ โมทนาสาธุการความเป็นเอกบุรุษ ของพระบรมศาสดาอยู่ไม่ขาดปาก



ครั้นพระสัมมาสัมพุทธ เจ้าทรงทราบเรื่องที่พระภิกษุประชุมสนทนากันแล้ว จึงตรัสว่า
“ มิใช่แต่เฉพาะบัดนี้เท่านั้น ที่ภาระแม้ถึงจะมากมาย เราก็แบ่งโดยส่วนย่อย ให้เป็นดุจของเบาๆได้ แม้ในกาลก่อน บัณฑิตได้ทองแท่งใหญ่ ไม่อาจยกขึ้นได้ ก็ยังแบ่งออกเป็นส่วนย่อยๆแล้วยกไปได้สำเร็จ”
ตรัสแล้วก็ทรงนิ่งเสีย พระภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลอาราธนา ให้ทรงเล่าเรื่องราวแต่หนหลังให้ฟัง พระบรมศาสดาจึงทรงระลึกชาติด้วยบุพเพนิวาสานุสติญาณ แล้วตรัสว่า กาญจนักขันธชาดก มีเนื้อความดังนี้



 เนื้อหาชาดก

ในอดีตกาล สมัยเมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติ ณ กรุงพาราณสี ครั้งนั้น มีชายชาวนาผู้ขยันขันแข็งอยู่คนหนึ่ง เขาคิดที่จะขยายพื้นที่การทำนาของเขาออกไป จึงได้เที่ยวหาและจับจองที่ดินรกร้างว่างเปล่าแห่งหนึ่ง และถากถางที่แห่งนั้นเป็นที่นาของตน ซึ่งที่ดินแห่งนี้เมื่อในอดีตเคยเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของเศรษฐีผู้มั่งคั่งมาก่อน
ชายหนุ่มได้ออกไปไถนาตามลำพังอยู่ทุกวัน จนกระทั่งวันหนึ่งขณะที่กำลังไถนาอยู่นั้น ผาลไถ ก็ไปสะดุดติดอยู่กับของแข็งๆ ท่อนหนึ่งในดิน วัวที่เทียมไถไม่สามารถลากต่อไปได้ จึงหยุดยืนนิ่งอยู่กับที่
เมื่อแรก เขาคิดว่าเป็นรากไม้ จึงเอามือขุดคุ้ยก้อนดินเป็นหลุมลึกดู แทนที่จะเป็นรากไม้อย่างที่คิดกลับเป็นแท่งทองคำขนาดใหญ่เท่าโคนขา ยาวประมาณถึง 4 ศอกฝังอยู่ในดิน
ทองคำแท่งนี้ เศรษฐีเจ้าของบ้านคนเดิมได้ฝังซ่อนไว้ แล้วอพยพครอบครัวไปอยู่ที่อื่นเวลาผ่านไปนานแสนนาน จนบ้านเรือนผุพังราบไป เหลือแต่เศษอิฐ เศษไม้ กลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่า


ขณะนั้นเพิ่งจะบ่ายคล้อย ยังมีเวลาเหลือพอทำงานได้อีกมาก ชาวนาผู้รักงานจึงค่อยๆ ถอนคันไถ ให้หลุดพ้นจากแท่งทองคำที่ทอดขวางอยู่นั้น แล้วโกยดินกลบท่อน ทองคำล้ำค่านั้นไว้จนมิดดังเดิม
เขาก้มหน้าก้มตาโถนาต่อไป โดยไม่คิดหยุดงาน จนกระทั่งโพล้เพล้ได้เวลากลับบ้านเขาจึงหยุดทำงาน เก็บสัมภาระต่างๆ มีแอกไถ เป็นต้น วางแอบไว้ที่โคนต้นไม้ใหญ่แล้วย้อนกลับไปยังที่ฝังแท่งทองคำ คุ้ยดินออก ตั้งใจจะแบกกลับบ้าน แต่ทองแท่งนั้นทั้งใหญ่ ทั้งมีน้ำหนักมาก เกินกำลังจะแบกหามไปได้ เขาจึงนั่งตรึกตรองคิดหาวิธีที่ดีที่สุด


ด้วยความฉลาดรอบคอบ และมองเห็นการณ์ไกลเยี่ยงบัณฑิตเขาจึงคิดว่า ควรจะแบ่งแท่งทองนี้ออกเป็นสี่ส่วน
ส่วนที่หนึ่ง     สำหรับขาย นำทรัพย์มาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องให้สุขสบายตามสมควร
ส่วนที่สอง     ฝังไว้ที่เดิม เก็บไว้ใช้ยามขัดสน เจ็บไข้
ส่วนที่สาม     สำหรับเป็นทุนทำไร่ทำนา และค้าขาย
ส่วนที่สี         สำหรับทำบุญให้ทาน
เมื่อกำหนดในใจได้อย่างนี้แล้ว เขาจึงตัดทองคำออกแบกกลับบ้านคราวละท่อนๆนำไปใช้ตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้แต่แรก โดยไม่มีความห่วงกังวลว่า ในแต่ละวัน ทองคำส่วนที่กลบดินซ่อนไว้จะสูญหายไปหรือมีใครอื่นบังเอิญมาพบ 
แต่ถึงกระนั้น เพื่อความปลอดภัยไม่ประมาท ชาวนาผู้รอบคอบจึงตั้งใจสำรวมระวัง ไม่ปริปากแพร่งพรายเรื่องนี้ให้ใครทราบ แม้แต่กับลูกเมีย เพราะเกรงว่า คนในครอบครัวจะเก็บความลับไว้ไม่อยู่หรือเผลอสติฟุ้งเฟ้อให้ชาวบ้านสงสัยไต่ถาม หากความลับแตกก็จะไม่พ้นอันตรายจากโจรผู้ร้าย
ยิ่งกว่านั้น แม้แต่การจับจ่ายใช้สอยภายในบ้าน ก็ยังควบคุมไว้ให้เป็นไปตามปกติ จนไม่มีใครในหมู่บ้านล่วงรู้เบื้องหลังในความเป็นผู้มั่งมีของเขาเลย นอกจากจะเข้าใจเอาเองว่า เป็นเพราะความขยันขันแข็งในการทำงานของเขา
การประชุมชาดก
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาจบแล้วได้ ตรัสพระคาถาเสริมขึ้นว่า
“ นรชนใด มีจิตร่าเริงแล้ว มีใจเบิกบานแล้ว
บำเพ็ญธรรมเป็นกุศล เพื่อบรรลุความเกษมจากโยคะ
นรชนนั้น พึงบรรลุความสิ้นสังโยชน์ทุกอย่างได้โดยลำดับ”

ครั้นแล้วจึงทรงประชุมชาดกว่า
ชายชาวนา     ได้มาเป็นพระองค์เอง

ข้อคิดจากชาดก
1. ผู้ที่เป็นครู อาจารย์ เป็นพ่อแม่ เป็นผู้บังคับบัญชา ล้วนมีหน้าที่ต้องให้การสั่งสอนอบรมผู้น้อย ตามหน้าที่ของตน
เมื่อจะสั่งสอนใคร ให้ตระหนักอยู่เสมอว่า ความสามารถในการเรียนรู้ การรับคำสอนของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับพื้นฐานหลายอย่าง ก่อนสอน จึงต้องศึกษาอัธยาศัยของผู้รับคำสอนเสียก่อนแล้วพลิกแพลงวิธีการให้เหมาะสม มิฉะนั้น จะกลายเป็นยัดเยียดคำสอน ก่อให้เกิดอารมณ์ขุ่นมัว ตอบโต้ออกมาในทางลบ

อย่างไรก็ดี เนื่องจากโดยทั่วไป เราไม่รู้วาระจิตของผู้อื่นจึงมีปัญหาในการสอน การอธิบายอยู่เสมอ เพื่อจะผ่อนหนักให้เป็นเบา ก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อม โดยฝึกตนให้เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติ 4 ประการคือ
     1. แตกฉานในการขยายความ ให้เหมาะกับอัธยาศัยของ   ผู้ฟัง แต่ละประเภท
     2. แตกฉานในการย่อความ ให้ได้ความสำคัญ และทันเวลา
     3. แตกฉานในการพูดโน้มน้าวให้สนใจ ด้วยคำคมและให้กระหายใคร่ติดตาม ด้วยคำทิ้งท้าย
    4. มีปฏิภาณไหวพริบ ในการถามและตอบปัญหา
2. ถ้าต้องการให้งานใหญ่สำเร็จ ต้องรู้จักแบ่งงานเป็นส่วนย่อย แล้วมอบงาน มอบอำนาจหน้าที่ ให้เหมาะสมตามความรู้ ความสามารถของผู้รับงาน และต้องระวังรักษาความยุติธรรมให้จงดีอย่ารวบงานไว้คนเดียว  
3. ผู้นำต้องฉลาดในการเก็บความลับด้วย เรื่องบางอย่างบอกไม่ได้ แม้แต่ลูกเมีย
 อธิบายคำศัพท์
กาญจนักขันธชาดก  (อ่านว่า กาน-จะ-นัก-ขัน-ทะ-ชา-ดก)
กาญจน                     ทองคำ
ขันธ                          ลำ, ท้อน
ผาล                           เหล็กสำหรับสวมหัวหมูเครื่องไถ
โยคะ                     ความติด, ความประกอบ, กิเลสอันเป็นเครื่องประกอบ,
                             ธรรมเครื่องประกอบ
สังโยชน์              กิเลสอันเป็นเครื่องผูกรัด
พระคาถาประจำชาดก
โย ปหฏฺเฐน  จิตฺเตน          ปหฎฺฐมนโส  นโร
ภาเวติ  กุสลํ  ธมฺมํ            โยคกฺเขมสฺส  ปตฺติยา
ปาปุเณ  อนุปุพฺเพน           สพฺพสํโยชนกฺขยํ.
นรชนใด มีจิตร่าเริงแล้ว มีใจเบิกบานแล้ว
บำเพ็ญธรรมเป็นกุศล เพื่อบรรลุความเกษมจากโยคะ
นรชนนั้น พึงบรรลุความสิ้นสังโยชน์ทุกอย่างได้ โดยลำดับ.

ที่มา :  มก. เล่ม ๕๕ หน้า ๑๗๐


กราบขอบพระคุณทุกส่วนที่ทำให้บลอคสมบูรณ์
พระธรรมเทศนาโดยหลวงพ่อทัตตชีโว บางส่วนจากหนังสือนิทานชาดกอันดับที่ 6 
เรื่องกาญจนักขันธชาดก หน้า 57-65
ภาพประกอบ

วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ปัญจาวุธชาดก...ชาดกว่าด้วยการทำความเพียร


  นิทานชาดกเป็นสมบัติล้ำค่าของชาวพุทธ นิทานชาดกมิใช่เรื่องที่แต่งขึ้นเพื่อสอนคุณธรรม แต่นิทานชาดกคือเรื่องในอดีตชาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงแสดงแก่พระภิกษุในโอกาสต่างๆ เพื่อเป็นแบบแผนในการทำความดี หลักธรรมที่ได้จากการรับชมรับฟังนิทานชาดกนี้ สามารถนำไปใช้ให้เป็นคุณประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของตนเองและผู้อื่น




วันนี้ขอเสนอ ปัญจาวุธชาดก...ชาดกว่าด้วยการทำความเพียร

สถานที่ตรัสชาดก   

เชตวันมหาวิหารนครสาวัตถี

ในสมัยพุทธกาล ขณะเมื่อพระบรมศาสดาประทับ ณ เชตะวันมหาวิหาร ทรงทราบว่าในเวลานั้นมีภิกษุรูปหนึ่ง มีนิสัยเกียจคร้านในการศึกษาและปฏิบัติธรรมครองเพศสมณะอยู่ไปวันหนึ่งๆเท่านั้น
พระพุทธองค์จึงทรงเรียกพระภิกษุรูปนั้นมาสอบถาม เมื่อทรงทราบแล้วจึงทรงตักเตือนว่า
“ดูก่อนภิกษุ แม้ในกาลก่อน บัณฑิตทั้งหลายกระทำความเพียรในที่ที่ควรประกอบความเพียร ก็ยังบรรลุถึงราชสมบัติได้”
แล้วทรงระลึกชาติแต่หนหลังของพระองค์เอง ด้วยบุพเพนิวาสานุสติญาณ แล้วตรัส   มีเนื้อความดังนี้



 เนื้อหาชาดก
ในอดีตกาลนานมาแล้ว ที่เมืองพาราณสี  มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระเจ้าพรหมทัต ทรงปกครองบ้านเมืองโดยทศพิธราชธรรม ประชาชนอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขโดยทั่วหน้ากัน
ในเวลาต่อมา พระอัครมเหสีได้ประสูติพระราชโอรสซึ่งมีพระลักษณะสมบูรณ์ด้วยบุญญาธิการ ครั้นล่วงถึงวันสมโภชพระนามบรรดาโหรหลวงผู้ชำนาญในการดูลักษณะ ต่างพากันถวายคำทำนาย
“ พระราชกุมารพระองค์นี้ ต่อไปภายหน้าจะได้ครองราชย์สมบัติ จะมีความเชี่ยวชาญเป็นเยี่ยมทั้งในด้านการปกครอง และด้านการสงคราม จะปรากฏชื่อลือชา ด้วยการใช้เพลงอาวุธ 5 ชนิด”
เมื่อได้ฟังคำทำนายเช่นนั้น พระเจ้าพรหมทัตทรงปลาบปลื้มพระทัยยิ่งนัก จึงทรงพระราชทานพระนามพระราชโอรสว่า ปัญจาวุธกุมาร



ปัญจาวุธกุมารทรงเจริญวัยขึ้นตามลำดับ ทรงมีพระสติปัญญาเฉลียวฉลาด และสมบูรณ์ด้วยพละกำลัง ยิ่งกว่ากุมารทั้งหลายในวัยเดียวกัน
เมื่อพระชนมายุครบ 16  พรรษา พระราชบิดาทรงมีรับสั่งให้เดินทางไปศึกษาศิลปวิทยา ในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ณ เมืองตักกสิลา แคว้นคันธาระ  (บัดนี้อยู่ในเขตปากีสถาน)
เพียงเวลาผ่านไปไม่นาน ปัญจาวุธกุมารก็สามารถศึกษาศิลปะศาสตร์ ได้สำเร็จครบทุกแขนง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการรบพุ่ง ทรงมีความชำนาญเป็นเลิศในการใช้อาวุธสำคัญ คือ ธนู พระขรรค์ หอกซัด กระบอง อีกทั้งทรงมีพระสติปัญญาเป็นเลิศ สมดังคำทำนายของบรรดาโหราจารย์ทุกประการ
จากนั้น พระราชกุมารก็กราบลาพระอาจารย์ ออกจากสำนักทิศาปาโมกข์ เหน็บอาวุธเข้ากับพระวรกายอย่างรัดกุม เสด็จมุ่งหน้ากลับกรุงพาราณสีตามลำพัง โดยทรงลัดเลาะไปตามป่าเขาต่างๆ ซึ่งไม่ใช่ทางที่ทรงดำเนินมาแต่แรก เพราะมีพระประสงค์จะชมภูมิประเทศที่แปลกตาออกไป



ปัญจาวุธกุมารทรงเดินทางรอนแรมอยู่หลายวัน จนกระทั่งวันหนึ่ง ขณะที่กำลังเสด็จผ่านหมู่บ้านเล็กๆ มุ่งเข้าสู่ดงไม้อีกแห่งหนึ่งชาวบ้านย่านนั้นเห็นหนุ่มน้อยแปลกหน้ากำลังเดินทางเข้าสู่แดนอันตราย ก็รีบพากันมาร้องห้ามว่า
“ พ่อหนุ่ม อย่าไปทางนี้เลย ในป่านี้มียักษ์ขนเหนียวอาศัยอยู่ถ้ามันเห็นเจ้า มันต้องจับเจ้ากินแน่ๆ”
ปัญจาวุธกุมารได้ฟังดังนั้น ก็มิได้ทรงนึกครั่นคร้ามเกรงกลัวยักษ์นั้นเลย ทรงขอบใจชาวบ้าน แล้วทรงยืนยันอย่างแข็งขันว่า พระองค์ย่อมสามารถเอาตัวรอดได้

พระราชกุมารผู้มีพระทัยเด็ดเดี่ยว กล้าหาญ เสด็จดำเนินต่อไปในดงไม้ ด้วยท่าที่ทรนงองอาจ สง่างาม แต่ทรงระวังพระองค์อยู่ตลอดเวลา




เจ้ายักษ์ร้ายตนนี้มีชื่อว่า สิเลสโลม แปลว่า “มีขนเหนียวเป็นตัง” มันชอบดักจับมนุษย์และสัตว์ป่ากินเป็นอาหาร เมื่อเห็นหนุ่มน้อยเดินเข้ามาถึงที่อยู่ของมันตามลำพัง ก็นึกดีใจว่าได้ลาภปากอีกแล้ว  จึง รีบแปลงกายให้ใหญ่โต สูงลิ่วเท่าลำตาล ศีรษะโตเท่าเรือนยอด  นัยน์ตาแต่ละข้างขนาดเท่าล้อเกวียน ตาลุกวาวแดงก่ำน่ากลัว เขี้ยวทั้งสองมีขนาดเท่าหัวปลี หน้าขาว ท้องด่าง มือเท้าเขียวดูรูปร่างทั้งน่าอัปลักษณ์ ทั้งน่าสะพรึงกลัว มันย่างสามขุมตรงเข้ามาหาปัญจาวุธกุมาร
“ ฮ่ะฮ่ะฮ่ะ เจ้าหนุ่มน้อยมาให้ข้า จับกินซะดีๆ” มันแสยะปากหัวเราะพร้อมกับก้าวเท้าเข้ามา
แต่แทนที่ปัญจาวุธกุมารจะหวาดหวั่นครั่นคร้าม กลับร้องขึ้นว่า
“ ชะชะ เจ้ายักษ์ขนเหนียว วันนี้ เราจะปราบเจ้าให้สิ้นฤทธิ์เลยทีเดียว”  
พูดแล้ว ปัญจาวุธกุมารก็ชักธนูอาบยาพิษขึ้นมา แล้วยิงไปยังเจ้ายักษ์ขนเหนียวทันที แต่ลูกธนูก็ไม่อาจทำอันตรายยักษ์ได้ กลับไปติดแน่นอยู่ที่ขนหน้าแข้งของมัน 

ยักษ์ชะงักอยู่กับที่นิดหนึ่ง ด้วยคาดไม่ถึงว่า จะมีมนุษย์คนใดใจกล้าถึงปานนี้ มันก้าวเข้ามาอีกก้าวหนึ่ง ปัญจาวุธกุมารก็ยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษเข้าไปอีก

แต่ลูกศรไม่อาจทำอันตรายเจ้ายักษ์ขนเหนียวได้ กลับไปติดระเกะระกะอยู่ตามขนหน้าแข้งของมัน แต่ปัญจาวุธกุมารไม่ละความพยายาม ระดมยิงลูกศรใส่เจ้ายักษ์จนหมดยักษ์ขนเหนียวสลัดลูกศรทั้งหมดให้ร่วงอยู่แทบเท้า แล้วย่างสามขุมใกล้เข้ามา
“ หยุดนะ!” ปัญจาวุธกุมารตวาดมันอีกครั้ง แล้วชักพระขรรค์อันคมกริบโถมเข้าประชิดยักษ์ แล้วฟันฉับลงไปด้วยพละกำลังอันมหาศาล แต่พระขรรค์ก็ติดอยู่เพียงแค่ขนหน้าแข้งยักษ์เท่านั้นเอง



ปัญจาวุธกุมารไม่ละความพยายาม ชักหอกซัดขึ้นฟาดฟันเจ้ายักษ์ขนเหนียวด้วยกำลังแรง แต่หอกชัดก็ไปติดอยู่ที่ขนหน้าแข้งของมันอีกเช่นกัน
ปัญจาวุธกุมารชักกระบองขึ้นหวดเจ้ายักษ์ แต่กระบองก็ไปติดที่ขนของมันอีก แม้อาวุธทุกอย่าง จะไปติดอยู่ที่ขนหน้าแข้งของยักษ์ขนเหนียว แต่กำลังใจของปัญจาวุธกุมารก็มิได้ลดลงไปเลยแต่กลับประกาศก้องขึ้นว่า
 “ เฮ้ย เจ้ายักษ์! เจ้าไม่เคยได้ยินชื่อของเราผู้มีนามว่าปัญจาวุธกุมารเลยหรือ วันนี้เราจะปราบเจ้าให้แหลกเป็นผงไปเลย”
ว่าแล้ว ปัญจาวุธกุมารก็โถมเข้าหายักษ์ ต่อยด้วยมือขวามือขวาก็ติดขนยักษ์ ต่อยด้วยมือซ้าย มือซ้ายก็ติด เตะด้วยเท้าขวาเท้าขวาก็ติด เตะด้วยเท้าซ้าย เท้าซ้ายก็ติด กระแทกด้วยศีรษะ ศีรษะก็ติด เป็นอันว่าทั้งอาวุธและทั้งตัวของปัญจาวุธกุมาร ติดห้อยต่องแต่งอยู่ตรงหน้าแข้งยักษ์นั่นเอง แต่ถึงกระนั้น ปัญจาวุธกุมารก็ไม่มีท่าที่สะทกสะท้านหรือหวาดกลัวเลย
 เจ้ายักษ์ขนเหนียวไม่เคยพบเคยเห็นใคร ที่มีใจเด็ดเยี่ยง บุรุษอาชาไนย เช่นนี้มาก่อนมันรู้สึกนับถือในความกล้าของปัญจาวุธกุมารมาก มันก้มลงมองปัญจาวุธกุมาร แล้วพูดว่า
“เจ้าหนุ่มเอ๋ย เจ้าแน่มาก ข้ากินเจ้าไม่ลงจริงๆ ข้าอยากรู้นักว่า ทำไมเจ้าจึงไม่กลัวตาย?”
ปัญจาวุธกุมารจึงตอบยักษ์ไปว่า
“ ยักษ์เอ๋ย ทำไมเราจะต้องกลัวตาย ทุกคนเกิดมาก็ต้องตายด้วยกันทั้งนั้น แต่เจ้ารู้หรือไม่ว่า ในท้องเรามี วชิราวุธ ถ้าเจ้ากินเรา เจ้าก็ต้องตายเหมือนกัน เพราะวชิราวุธในท้องเรา จะบาดไส้พุงของเจ้าให้ขาดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ฮะฮ่ะฮ่ะ เจ้ายักษ์เอ๋ยเราไม่ตายเดียวหรอก ถ้าเราตาย เจ้าก็ต้องตายด้วย”
ยักษ์ขนเหนียวได้ฟังคำขู่ของปัญจาวุธกุมารก็รู้สึกครั่นคร้ามจึงกล่าวว่า
“ พ่อหนุ่ม เราไม่อยากกินเนื้อของเจ้าหรอก ตัวเจ้าเล็กนิดเดียว กินไปก็ไม่พออิ่ม เอาละเราจะปล่อยเจ้าไป”



ว่าแล้วเจ้ายักษ์ก็จับปัญจาวุธกุมารวางลงกับพื้นดิน แต่แทนที่ปัญจาวุธกุมารจะเดินจากไป กลับหันหน้าพูดกับยักษ์ว่า
“ ขอบใจ เจ้ายักษ์ แต่ก่อนที่เราจะไป เราขอเตือนเจ้าว่าเจ้าได้ก่อกรรมทำเข็ญไว้มากตั้งแต่เมื่อชาติก่อนแล้ว เจ้าจึงต้องมาเกิดเป็นยักษ์ มีชีวิตอยู่ด้วยความตาย และเลือดเนื้อของผู้อื่นนับว่าเกิดมาสร้างกรรมแท้ๆ เมื่อเจ้าสิ้นชีวิตละโลกนี้ไป เจ้าต้องไปเกิดใน
อบายภูมิคือ นรก เกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉาน เกิดเป็นเปรตเป็นอสุรกายเหมือนอย่างที่เจ้าต้องมาเกิดเป็นยักษ์อีกแน่ๆ แม้หมดเวรจากอบายภูมิมาเกิดเป็นมนุษย์ อายุของเจ้าก็จะสั้น เพราะได้ทำลายชีวิตของผู้อื่นไว้มาก เจ้าจงอย่าได้ฆ่าใครๆ อีกเลย จงประพฤติธรรมรักษาศีลดีกว่า”
ยักษ์ขนเหนียวนั่งนิ่งฟังคำของปัญจาวุธกุมารอย่างสงบนับเป็นการฟังธรรมครั้งแรกในชีวิตของมัน เจ้ายักษ์รู้สึกเลื่อมใสศรัทธา จึงตั้งใจฟังเป็นอย่างดี ปัญจาวุธกุมารจึงขอให้ยักษ์รักษาศีล 5 แล้วเตือนให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท



เมื่อปัญจาวุธกุมารปราบยักษ์ได้แล้ว จึงเก็บอาวุธของตนเดินทางออกจากป่าเข้าสู่หมู่บ้าน เพื่อบอกชาวบ้านให้เลิกหวาดกลัวยักษ์ขนเหนียว แล้วให้นำข้าวปลาอาหารไปให้ยักษ์กินด้วย เพราะยักษ์จะรักษาศีลแล้ว จากนั้น ปัญจาวุธกุมาร จึงเดินทางเข้าสู่เมืองพาราณสีต่อไป  






 ประชุมชาดก
 เมื่อพระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาจบแล้ว ก็ตรัสพระคาถาเพิ่มเติม มีใจความว่าไม่ว่า
“ นรชนผู้ใด มีจิตไม่ท้อแท้ มีใจไม่หดหู่ บำเพ็ญกุศลธรรม เพื่อบรรลุความเกษมจากโยคะ
นรชนผู้นั้น พึงบรรลุความสิ้นสังโยชน์ทุกอย่างโดยลำดับ”
อธิบายโดยย่อว่า
 “ คนเรา ถ้าไม่ย่อท้อ ไม่รวนเร ไม่หดหู่ ก็จะเห็นคนที่มีจิตใจ มั่นคง สามารถฝึกสติให้ดีได้ สมาธิก็จะก้าวหน้า บรรลุธรรมชั้นสูงๆ ขึ้นไปตามลำดับ”
พระภิกษุผู้มีความเพียรย่อหย่อน ก็กลับมีกำลังใจเข้มแข็งขึ้นมาใหม่ จิตใจผ่องใส ชุ่มชื่น เบิกบาน พระบรมศาสดาจึงทรงแสดง อริยสัจสี่โดยอเนกปริยาย พระภิกษุรูปนั้นก็สามารถประคองใจให้หยุดนิ่ง เข้าถึงธรรมกายอรหัต สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในบัดนั้นเอง
ครั้นแล้วพระบรมศาสดา จึงทรงประชุมชาดกว่า
ยักษ์     ในครั้งนั้น     ได้มาเป็นองคุลีมาล
ปัญจาวุธกุมาร           ได้มาเป็นพระองค์เอง
ข้อคิดจากชาดก
1. การทำความเพียรอย่างไม่ลดละ ทำให้เกิดอำนาจในตัวได้ ถึงเป็นคนธรรมดาไม่มีอำนาจราชศักดิ์ ก็ยังเป็นที่ครั่นคร้ามของคนทั่วไป แม้อันธพาลก็ยังลังเล ไม่กล้ารุกรานเพราะอัศจรรย์ในพลังจิตที่เข้มแข็งเด็ดเดี่ยวของผู้นั้น
2. ขึ้นชื่อว่า คน ย่อมกลัวตายด้วยกันทั้งนั้น แต่เมื่อถึงคราวจะตาย คนบางพวกกลับไม่หวาดหวั่น
คนพวกนี้ คือผู้ที่ฝึกสมาธิอย่างช่ำชอง ตัดสินใจสละชีวิตเพื่อบำเพ็ญเพียร เพื่อเข้าถึงนิพพานมาตั้งแต่ต้น ดังนั้น จึงมีความเชื่อมั่นอย่างแน่นแฟ้นว่า แม้ถึงตาย บุญที่ทำไว้ดีแล้ว ย่อมทำให้ไปเกิดในที่ดีจึงไม่เสียดายชีวิตเลย

 อธิบายศัพท์
ปัญจาวุธชาดก (อ่านว่าปัน-จา-วุด-ชาดก)
ปัญจาวุธ            อาวุธ 5 อย่าง
                          หมายถึงเหนียวมาก เหนียวติดเหมือนยางไม้ชนิดหนึ่ง
บุรุษอาชาไนย  บุรุษผู้แกล้วกล้า  ผู้ฝึกตนมาดีแล้ว
เรือนยอด          อาคารที่มีหลังคาทรงสูง
วชิราวุธ            อาวุธอันเป็นสายฟ้า, อาวุธที่คมราวเพชร
                         (แท้ที่จริงแล้วคือปัญญาอันรุ่งโรจน์)


พระคาถาประจำชาดก
โย  อลีเนน  จิตฺเตน     อลีนมนโส  นโร
ภาเวติ  กุสลํ  ธมฺมํ      โยคกฺเขมสฺส  ปตติยา
ปาปุเณ  อนุปุพฺเพน    สพฺพสํโยชนกฺขยํ.

นรชนใดมีจิตไม่ท้อแท้  มีใจไม่หดหู
บำเพ็ญกุศลธรรมเพื่อบรรลุความเกษมจากโยคะ
นรชนผู้นั้น  พึงบรรลุถึงความสิ้นสังโยชน์ทุกอย่าง โดยลำดับ.


ที่มา :  มก. เล่ม 55 หน้า 170



กราบขอบพระคุณที่มาของบทความที่สมบูรณ์
พระธรรมเทศนา โดยหลวงพ่อทัตตชีโว นิทานชาดกอันดับที่ 6 หน้า 47-55



ประโยชน์ที่ได้รับ...จากการทำสมาธิ

    สมาธิก่อให้เกิดประโยชน์อย่างไรบ้าง บางคนหากไม่ได้สังเกตก็อาจไม่ทันรู้ตัวว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองนั้นเป็นผลมาจากสติปั...