วันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2562

บัณฑิต...จะฝึกตนเช่นไรให้สมกับเป็นบัณฑิตที่แท้จริง





บทฝึกวิสัยบัณฑิตส่วนบุคคล

สำหรับบทฝึกส่วนบุคคล ซึ่งต้องทำงานไปด้วย ฝึกอบรมตนไปด้วย สร้างบุญไปด้วย แก้ปัญหาไปด้วย ก็พอจะสรุปจากประสบการณ์ได้ว่า มีบทฝึกรักษาใจให้ผ่องใสอยู่ 9 วิธี ถ้าพวกเราหมั่นฝึกฝนให้ต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอจนเป็นปกติวิสัยแล้ว จะสามารถใช้รักษาใจในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ แล้วจะช่วยเพิ่มความเป็นชาวพุทธของเราให้เข้มแข็งขึ้นโดยอัตโนมัติ กระทั่งสามารถเป็นชาวพุทธต้นแบบ เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของชาวโลกในยุคนี้ได้อย่างดีเยี่ยมเลยทีเดียว บทฝึกใจใส 9 วิธี ประกอบด้วย



1.หมั่นเข้าวัดฟังธรรมปรับทิฐิให้ตรง

ถามว่าอะไรคือวัตถุประสงค์ใหญ่ของการเข้าวัดฟังธรรม

วัตถุประสงค์อยู่ที่การปรับทิฐิ หรือการปรับความเห็นของตัวเองให้ตรง นี่เป็นเรื่องใหญ่ ถ้าทิฐิคือความเห็นของเรายังไม่ตรง ถือว่ายังใช้ไม่ได้

การปรับความเห็นหรือทิฐิให้ตรง มีเรื่องอะไรบ้างที่เราจะต้องพยายามปรับอย่างสุดฝีมือ มีอยู่ 3 เรื่อง
1.บุญบาปมีจริง
2.ตายแล้วไม่สูญ ยังมีการเวียนว่ายตายเกิดต่อไป
3.นรกสวรรค์มีจริง
ทั้ง 3 เรื่องนี้ สรุปย่อ ๆ สั้น ๆ ได้ว่า “กฎแห่งกรรม” มีจริง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบเมื่อวันที่ทรงตรัสรู้ธรรมว่า ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายถูกกฎแห่งกรรมครอบงำอยู่ทั้งสิ้น*จูฬกัมมวิภังคสูตร, ม.อุ. 23/581/251 (มมร.) แล้วทรงนำมาบอกให้ชาวโลกรู้ความจริง ดังนั้น พึงตระหนักไว้เสมอว่า ตัวเราเองก็ยังอยู่ภายใต้กรรมที่ตนทำไว้ทั้งสิ้น ซึ่งยังหนีไม่พ้นกฎแห่งกรรม เพราะเหตุที่เรายังมีนิสัยดีบ้าง พาลบ้าง ผลัดกันขึ้นลงอยู่อย่างนี้ ก็ต้องระมัดระวังควบคุมตัวเองให้ดี อย่าไปทำล้อเล่นกับมัน เพราะกฎแห่งกรรมไม่เคยปรานีใคร

ถามว่ามีใครบ้างไหม ที่นิสัยดีมีความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจคงที่ มีศรัทธา และสัมมาทิฏฐิ มั่นคง ไม่คลอนแคลน ไม่ขึ้นไม่ลงเลย ก็ตอบว่ามีเหมือนกัน คือพระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปจนถึงพระอรหันต์นั่นเอง

สำหรับพวกเราที่นั่งกันอยู่นี่ ยังไม่มีใครเป็นพระโสดาบัน ก็ต้องรับรู้ไว้ว่า พวกเรายังอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม วันหนึ่ง ๆ ก็มีโอกาสคิดดีบ้างไม่ดีบ้างตลอดเวลา เจ้าความคิดไม่ดีนี้ ก็มักจะชักนำให้เราหลงผิดไปทำตัวเป็นคนพาล สร้างกรรมชั่วขึ้นมา ทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมายนี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องระมัดระวังให้มาก เราจึงต้องหมั่นมาฟังธรรมที่วัด เพื่อปรับทิฐิความเห็นให้ตรงอยู่เป็นประจำทุกวันอาทิตย์
2.หมั่นนั่งสมาธิ ดึงใจกลับมาไว้ในตัว

คุณครูไม่ใหญ่ (หลวงพ่อธัมมชโย) ได้สั่งแล้วสั่งอีกว่า ให้หมั่นทำการบ้านของโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยาทั้ง 10 ข้อ ฟังแล้วดูเหมือนไม่มีอะไร แต่การบ้านนี้มีผลอย่างมาก เช่น ตั้งแต่ตื่นเช้าขึ้นมา ใจก็อยู่ในอู่ทะเลบุญ ทุก 1 ชั่วโมง ขอ 1 นาที ขอให้นึกถึงองค์พระหรือดวงแก้ว เป็นต้น การทำดังนี้เท่ากับเป็นการดึงใจกลับมาไว้ในตัวนั่นเอง

การดึงใจกลับมาไว้ในตัวดีอย่างไร ?

เมื่อใจถูกดึงมาเก็บไว้ในตัว ย่อมมีการแก้ไขตนเองเป็นกำลัง นั่นคือการฝึกวิสัยบัณฑิต ส่วนคนพาลมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง เพราะปล่อยใจออกไปนอกตัว โดยเฉพาะชอบปล่อยใจไปจับผิดผู้อื่น นั่นคือการเพิ่มพูนวิสัยพาล

3.หมั่นวัดใจตนเอง

วันนี้พวกเราเองก็ยังไม่หมดกิเลส บางครั้งใจก็หลุดออกไปนอกตัว บางครั้งใจก็อยู่ในตัว แต่ว่าสิ่งที่จะต้องฝึกให้ได้ คือต้องหัดวัดใจตัวเองว่า วันหนึ่ง ๆ เรามีความเป็นพาลหรือว่าบัณฑิตมากน้อยแค่ไหน เราต้องหัดวัดใจเราเอง

แล้วจะรู้ได้อย่างไร เราจะวัดได้อย่างไร วัดโดยหัดนึกถึงองค์พระ นึกถึงดวงแก้วบ่อย ๆ แล้วตรวจสอบดูว่า ใจอยู่กับองค์พระ หรือว่าหนีเที่ยวมากกว่ากัน ถ้าใจหนีเที่ยวมากกว่า ให้รู้ไว้เถิดว่าเรามีเชื้อพาลมาก ถ้าใจนึกถึงองค์พระ นึกถึงดวงแก้วได้บ่อย ๆ มากกว่า แสดงว่าเรามีเชื้อบัณฑิตอยู่ในตัวมาก

ในฐานะที่พวกเราได้เข้าวัดกันมานาน ถ้าไม่หัดวัดใจตัวเองอย่างนี้ เดี๋ยวจะถูกกระแสโลกดึงไปอยู่กับเขาจนหมด ลำดับต่อไปคงจะได้แห่ไปทำอะไรต่อมิอะไรที่ก่อให้เกิดการจองเวรกันต่อไปอีก ก็ขอฝากข้อคิดเตือนใจไว้ตรงนี้

เพราะฉะนั้น เมื่อเราเป็นชาววัด ก็ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่า ชาววัดคือคนที่ชอบวัดใจตัวเองว่า ใจของเราอยู่กับองค์พระ ใจของเราเป็นบัณฑิตหรือคนพาลมากกว่ากัน คนที่ชอบวัดใจตัวเองนั่นแหละ เขาเรียก “ชาววัด” ตั้งใจฝึกตนให้เป็นบัณฑิต แต่คนที่ไปชอบจับผิดชาวบ้านเขาเรียกว่า “เลิกวัด” ตั้งใจฝึกตนเป็นคนพาล ดูให้ชัดนะ เข้าวัดปฏิบัติธรรมแล้วก็ต้องจับหลักจับเกณฑ์ให้ดี ถ้าไม่จับหลักให้ดี เดี๋ยวก็จะเพี้ยนไป ไม่สมกับที่พวกเราเข้าวัดกันมาคนละนาน ๆ หลายปี มองกันตรงนี้ให้ชัดเจน
4.รักษาใจให้ใส เมื่อเกิดเหตุวุ่นวาย

ขณะนี้สังคมกำลังสับสนวุ่นวาย มีการทะเลาะกัน แตกแยกกันไม่ว่าจะเป็นสังคมโลก สังคมในหมู่บ้าน สังคมในตำบล สังคมในอำเภอ หรือสังคมในจังหวัดที่เราอยู่ ในช่วงที่สถานการณ์ยังไม่ค่อยลงตัวยังวุ่นวายอยู่ ผู้มีวิสัยของบัณฑิตควรมีหลักปฏิบัติตนอย่างไร

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเตือนไว้ว่า “เมื่อน้ำใส เรามองเห็นกุ้ง หอย ปู ปลาได้ชัด ถ้าน้ำขุ่น อะไรในน้ำมีมากแค่ไหนก็มองไม่เห็น”*ปณิหิตอัจฉวรรคที่ 5 องฺ.เอกฺก. 32/46/94-95(มมร.) เพราะฉะนั้น ในวาระที่สังคมวุ่นวาย ต้องทำใจให้ใสเป็นพิเศษ อย่าปล่อยให้หลุดไปตามกระแส มิฉะนั้น ใจจะยิ่งขุ่นมัวหนักขึ้น จึงมองปัญหาไม่ตรงตามความเป็นจริง เมื่อมองปัญหาไม่ตรงตามความเป็นจริง ก็จะตัดสินปัญหาด้วยอารมณ์ ทำให้ปัญหาลุกลามบานปลายออกไปไม่สิ้นสุด กลายเป็นการก่อเวรกันไม่จบไม่สิ้น พวกเราเป็นชาววัดต้องระมัดระวังรักษาใจให้ใสในทุกสถานการณ์

5.ปล่อยวาง ถ้ายังแก้ไขปัญหาไม่ได้

มีข้อคิดที่โบราณท่านได้ยกตัวอย่างไว้ว่า เมื่อคนสองคนทะเลาะกันก็เหมือนดึงเชือกชักกะเย่ออยู่คนละข้าง ต่างฝ่ายต่างก็ดึงเต็มเหนี่ยว แต่ความจริง ถ้าใครปล่อยเชือกก่อน คนนั้นจะเป็นฝ่ายชนะทันที เพราะทันทีที่ฝ่ายหนึ่งปล่อยก่อนนั้น คนที่ดึงอยู่จะหงายท้องตึงลงไป

แต่คนส่วนมากไม่ค่อยยอมปล่อยเชือก เพราะพอปล่อยแล้ว เขาจะนึกไม่ออกว่าจะไปไหน จะทำอย่างไรต่อไป เพราะฉะนั้น ต่างคนจึงต่างดึงเชือกกันสุดชีวิตเลย สุดท้ายเลยตายทั้งคู่ ทั้งที่จริงแล้ว ใครปล่อยเชือกก่อน คนนั้นจะเป็นฝ่ายชนะ เพราะเป็นฝ่ายหยุดการทะเลาะได้ก่อน ตั้งสติได้ก่อน ทำให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาขั้นต่อไปได้ก่อนนั่นเอง

เฉกเช่นเดียวกับคนที่ใจใส เขาจะเห็นวิธีแก้ไขปัญหาได้ก่อน จึงปล่อยวางจากการทะเลาะเบาะแว้งได้ก่อน แต่ถ้าใจขุ่น ปล่อยวางไม่ได้ดึงกันไปดึงกันมา ก็ไม่แน่ว่าใครจะแพ้หรือใครจะชนะ แต่มักจะแพ้กันทั้งคู่ ยิ่งถ้าใครใจขุ่นตลอดเวลา มุ่งแต่จะเอาชนะคะคานกัน โดยไม่ดูเหตุดูผลอะไร มักจะไม่เจอวิธีแก้ไขที่ถูกต้อง เพราะมีแต่จะเอาชนะกัน แล้วก็จะทำสิ่งผิดพลาด กลายเป็นปัญหาบานปลายไม่รู้จบ เหมือนเดินวนอยู่ใต้สะดือทะเล

ดังนั้น ใครที่ทำใจให้ใสเป็นประจำ ก็จะมองออกว่าต้องทำอะไรต่อไป เมื่อปล่อยวางก่อน ปล่อยมือจากเชือกก่อน ก็จะปลอดภัย เราจึงต้องหมั่นรักษาใจให้ใสอยู่เป็นประจำ จะได้มองเหตุการณ์ทุกอย่างตามความเป็นจริง รู้จักหาทางออกจากการทะเลาะเบาะแว้ง โดยลดการ
กระทบกระทั่งลงหรือหลีกเลี่ยงการก่อบาปก่อเวรได้อย่างนุ่มนวล




6.จับแง่คิดเป็น เพื่อหลีกเลี่ยงการทะเลาะวิวาท

หลวงพ่อได้เคยบอกพวกเราไว้หลายหนว่า เมื่อพี่น้องทะเลาะกันถึงแม้ว่าจะมีคนใดคนหนึ่งเป็นฝ่ายผิดอย่างชัดเจน แต่เมื่อพิจารณาดูให้ดี ๆ ก็จะพบว่า แม้คนที่ผิดอย่างชัดเจน ก็ไม่ผิดทั้งหมด เพียงแต่ว่าผิดมากหรือผิดน้อย เพราะว่าจริง ๆ แล้ว คนที่เป็นฝ่ายถูก ถ้ามีปัญญาสักหน่อย ก็สามารถพูดคุยจนกระทั่งคู่กรณียอมรับผิด หรือว่าเห็นความผิดของเขาเองได้ แต่ว่าเจ้าคนที่เป็นฝ่ายถูก กลับพูดไม่เป็น หรือไม่ทั้งคู่ก็เจ้าโทสะพอกัน ผลสุดท้ายคนที่ถูกก็ถูกสัก 70 เปอร์เซ็นต์ อีก 30 เปอร์เซ็นต์ เขาก็ยังมีส่วนผิดอยู่ คือผิดที่อธิบายไม่เป็น ตรงนี้อยากฝากเป็นข้อคิดเตือนใจพวกเราเอาไว้

ในปีหนึ่ง ๆ มีคู่กรณีมาหาหลวงพ่อให้ตัดสินหลายคู่ บางทีก็เป็นพี่น้องกันบ้าง บางทีก็เป็นหุ้นส่วนกันบ้าง บางทีก็เป็นสามีภรรยากันบ้างเขามาฟ้องอย่างนั้น อย่างนี้ อย่างโน้น หลวงพ่อฟังแล้วก็เห็นชัดว่าคนนั้นผิด คนนี้ถูก แต่ว่าอย่างที่บอก ไม่มีใครถูกทั้งหมด และไม่มีใครผิดทั้งหมด

ยกตัวอย่าง ภรรยามาพร้อมเรื่องสามีทั้งเจ้าชู้ ทั้งกินเหล้า  ทั้งใช้เงินเปลืองสารพัด  กรณีอย่างนี้จะให้หลวงพ่อตัดสินอย่างไร หลวงพ่อก็ตัดสินว่า “น่าเห็นใจนะ แต่ว่าคุณก็ผิดอยู่เรื่องหนึ่ง แล้วผิดหนักด้วย” เขาก็ถามว่า “ดิฉันเป็นภรรยา ตั้งใจดูแลครอบครัวทุกอย่าง จะเป็นฝ่ายผิดที่ตรงไหน” หลวงพ่อก็นิ่ง ๆ แล้วก็ตอบเขาไปตามตรงว่า “แล้วคุณโง่ไปคว้าเขามาเป็นสามีทำไม” คราวนี้ตัดสินง่ายเลย ชัดเจนดีไหม

เรื่องนี้ถือว่าเป็นข้อคิดเตือนสติก็แล้วกัน เวลาทะเลาะกัน ไม่มีใครผิดหรือใครถูกทั้งหมด จับแง่คิดให้ดี ๆ ทั้งฝ่ายถูกและฝ่ายผิด

www.dmc.tv

7.ไม่ว่ามีเหตุร้ายหรือดี ต้องเห็นคุณค่าและขวนขวายสร้างบุญ

สำหรับเรื่องนี้มีเหตุการณ์ดี ๆ อยู่หลายตัวอย่าง หลวงพ่อขอยกมาเล่าให้ฟังสักสามเรื่องก็แล้วกัน

7.1.ตุ๊กตาแป้งแตก เป็นเหตุให้สร้างบุญ

เรื่องแรก ขอให้นึกถึงเรื่องหลานสาวของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี*ปิฏฐธีตลิกเปตวัตถุที่ 4, ขุ.เปต.อ. 49/31-36(มมร.) ร้องไห้เพราะทำตุ๊กตาแป้งตกแตก คนทั้งบ้านใครปลอบก็ไม่ยอมเลิกร้องไห้ แล้วทำอย่างไร

ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีกลับมาถึงพอดี จึงถามว่า “หลานเอ๊ย ร้องไห้ทำไม”
“ตุ๊กตาแป้งมันตกแตก” หลานสาวก็ตอบไปตามตรง

ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็มีวิธีปลอบหลานสาวแบบเศรษฐี มีวิธีปลอบใจแบบพระโสดาบัน ท่านเลยบอกว่า “อ้าว จะไปร้องไห้ทำไม แค่ตุ๊กตาตกแตก”
“ก็ตุ๊กตานี่ เป็นลูกของหนู” หลานสาวก็ตอบตามภาษาเด็ก
แต่ท่านเข้าใจหลานสาวที่บอกว่า ตุ๊กตาเป็นลูกของเขา ซึ่งในความคิดของเด็ก เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ตุ๊กตาเสียแล้ว ท่านจึงตอบว่า “อ๋อ ตุ๊กตาเป็นลูกของหลานหรือ ถ้าอย่างนั้น เราไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ตุ๊กตากัน”

หลานสาวได้ยินว่า ไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ตุ๊กตา จึงหยุดร้องไห้ทันที แล้วท่านอนาถบิณ-
ฑิกเศรษฐีจึงให้นิมนต์พระวันละ 500 รูป ทำบุญติดต่อกัน 3 เดือน บางวันไปทำบุญที่วัด บางวันก็มาทำบุญที่บ้าน

ตามปกติแล้ว โดยส่วนตัวของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีทำบุญให้ทานมากเป็นปกติขนาดนี้ พอถึงคราวกับลูกหลานตนเอง บางทีชวนไปทำบุญก็ไม่ไป มักมีข้ออ้างกัน ส่วนหลานสาวของท่านตามธรรมดาก็ไม่ค่อยจะไปทำบุญ แต่คราวนี้ความที่ชอบตุ๊กตามากแล้วแตกไป ท่านจึงอาศัยเหตุนี้ชวนหลานสาวให้ได้ทำบุญอย่างต่อเนื่อง

พวกเราลองคิดดูว่า คนที่ทำบุญกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหล่าพระอรหันต์ 500 รูป ต่อเนื่องกัน 3 เดือน บุญจะมากมายมหาศาลขนาดไหน แม้คน ๆ นั้นจะเป็นเด็กก็ตามที

ถามว่าท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเพี้ยนไปหรือเปล่า...ไม่เพี้ยน

ในมุมมองของพระพุทธองค์ ได้ตรัสเตือนไว้ว่า วิสัยของบัณฑิตนักปราชญ์ ไม่ว่าจะกระทบเรื่องอะไรที่ทำให้ใจขุ่นมัว จำเป็นต้องหาเหตุทำบุญให้ใจผ่องใส*ปิฏฐธีตลิกเปตวัตถุที่ 4, ขุ.เปต. 49/89/30(มมร.)

ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นตัวอย่างของผู้มีวิสัยบัณฑิต เป็นผู้หนักแน่นอยู่ในธรรม ที่บ้านท่านจะตั้งโรงทานไว้สำหรับเลี้ยงคนยากคนจนฟรี ยังไม่พอ ท่านยังสร้างวัดเชตวันไว้เลี้ยงพระวันละ 500 รูป ทั้งเช้าทั้งเพลอีก นอกจากนั้น เมื่อท่านเจอเรื่องกระทบกระทั่งอะไรก็ยังหาเหตุทำบุญให้มากยิ่งขึ้นไปอีก

เจ้าหลานคนเล็กร้องไห้งอแงกับตุ๊กตา ก็เลยหาเหตุให้หลานทำบุญทุกวันต่อเนื่อง จึงได้บุญใหญ่เป็นบุญใหม่เพิ่มขึ้นมาในปัจจุบันอีก เมื่อโตขึ้นมาก็ไม่ต้องคำนวณกันว่า จะเป็นเศรษฐีใหญ่ต่อไปอีกขนาดไหน เพราะทำบุญกับเนื้อนาบุญ คือมีพระอรหันต์เต็มวัด แล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงเป็นประธานให้อีกด้วย นี่คือวิธีแก้ปัญหาของคนมีปัญญา มีวิสัยบัณฑิต

7.2 ไม่ว่าอยู่ที่ไหน เวลาใด อย่างไร ก็ทำบุญต่อเนื่อง

เรื่องที่สองเป็นเรื่องของมหาอุบาสิกาวิสาขา*ประวัตินางวิสาขามิคารมารดา, องฺ.เอกฺก.อ. 33/86-101(มมร.) ท่านบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันตั้งแต่อายุ 7 ปี เป็นนักทำบุญมาข้ามภพข้ามชาติ ชาตินี้ก็ทำบุญตั้งแต่เล็กที่เพิ่งจำความได้ พ่อของท่านคือ ธนัญชัยเศรษฐีเป็น มหาเศรษฐีใหญ่ก็ทำบุญอย่างต่อเนื่อง แม้ปู่ของท่านคือเมณฑกเศรษฐีก็เป็นมหาเศรษฐีใหญ่ของแคว้นมคธก็ทำบุญอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

เมื่อถึงคราวแคว้นโกศล เศรษฐกิจไม่ดี เพราะไม่มีมือเศรษฐกิจพระเจ้าปเสนทิโกศล พระราชาแคว้นโกศล ต้องการแก้ไขภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ในฐานะที่พระองค์เป็นพระญาติกับพระเจ้าพิมพิสารแห่งแคว้นมคธ จึงไปขอเมณฑกเศรษฐีจากแคว้นมคธ เพื่อมาแก้ไขภาวะเศรษฐกิจไม่ดี เพราะที่แคว้นมคธมีเศรษฐีหรือว่ามีมือเศรษฐกิจอยู่หลายท่าน แต่พระเจ้าพิมพิสารได้ให้ธนัญชัยเศรษฐี ซึ่งเป็นลูกของเมณฑกเศรษฐีและเป็นพ่อของนางวิสาขามาแทน ทั้งธนัญชัยเศรษฐีและนางวิสาขาเลยต้องมาอยู่อีกแคว้นหนึ่งตามคำขอ ทำให้แคว้นโกศลเจริญรุ่งเรืองขึ้นมา นี้ก็เป็นฤทธิ์ของการทำบุญอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยังเล็ก

7.3 บ้านเมืองเกิดปัญหา เพราะบุญหย่อน ต้องเติมบุญ

เรื่องที่สาม เมื่อ 9 -10 ปีที่ผ่านมา คุณครูไม่ใหญ่ได้ทราบข่าวสถานการณ์ภาคใต้ ที่พระภิกษุและชาวพุทธถูกฆ่า วัดถูกเผา ทางราชการมองการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไรของราชการ แต่ว่าในฐานะที่เป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา คุณครูไม่ใหญ่ท่านมีมุมมองว่าอย่างไร

ท่านมองสถานการณ์ภาคใต้วุ่นวายอย่างนี้ แสดงว่าโดยภาพรวมคนไทยทั้งแผ่นดินมีบุญหย่อนไป เพราะฉะนั้น จะต้องหาทางเติมบุญลงไปในใจของคนไทยทั้งแผ่นดินให้มากที่สุดและให้เร็วที่สุด

ตักบาตรพระ 30,000 วัด
www.dmc.tv

คำถามคือ แล้วจะทำอย่างไรให้มากที่สุดและเร็วที่สุด ?

ท่านแก้ไขด้วยการจัดตักบาตร โดยนิมนต์พระมาครั้งละเป็นพันรูป เป็นหมื่นรูป แล้วให้ประชาชนมาตักบาตรร่วมกัน ก็เลยกลายเป็นว่าพระได้บำเพ็ญหน้าที่เป็นเนื้อนาบุญเต็มที่ ส่วนญาติโยมก็ทำบุญทำทานกันเต็มที่ แล้วการตักบาตรก็ทำต่อเนื่องตลอดทั้งปี แต่ละครั้งเป็นหมื่นรูปบ้าง สองหมื่นรูปบ้าง สามหมื่นรูปบ้าง สี่หมื่นรูปบ้าง กลายเป็นว่าทำบุญตักบาตรพระกันเป็นล้าน ๆ รูปต่อปี เพราะฉะนั้น เมื่อบุญในตัวคนไทยโดยภาพรวมเพิ่มขึ้น ก็ทำให้เรายังรักษาภาคใต้เอาไว้ได้

แม้เหตุการณ์ยังไม่สงบดี แต่ยังรักษาเอาไว้ได้ ใครจะมาตัด มาทำลายไปไม่ได้ ส่วนที่ว่าจะให้สถานการณ์สงบลงเด็ดขาด นั่นเป็นเรื่องของการปกครองทางโลก ทางรัฐบาล ทางข้าราชการ ใครมีหน้าที่อะไรก็แก้ไขกันไป ส่วนทางธรรมก็เติมบุญลงไป

การช่วยเหลือปัญหาภาคใต้ด้วยวิธีการเติมบุญนี้ เป็นการลงไปช่วยในฐานะที่เป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เป็นการช่วยในฐานะที่เป็นชาววัดชาวพุทธด้วยกัน นอกจากนี้ยังได้นิมนต์พระ 30,000 วัดทั่วประเทศมาเป็นเนื้อนาบุญให้ได้ถวายไทยธรรมเป็นสังฆทานให้ยิ่งขึ้นไปอีก นี้ก็เป็นตัวอย่าง เป็นวิธีของชาววัดหรือวิสัยบัณฑิต



8. มีข้อบกพร่องรีบแก้ไข มีข้อดีให้ทำยิ่งขึ้นไป

ขณะนี้ทั่วโลกมีเหตุการณ์ร้ายต่าง ๆ สารพัด ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ซึ่งได้สะท้อนถึงกระแสวิบากกรรมโดยรวมของทั้งโลก กระแสกิเลสโดยรวมของคนทั้งโลก เพราะกระแสกิเลสกับกระแสกรรมโดยรวมนี้เองที่เป็นตัวกำหนดเหตุการณ์ร้าย ๆ ในสถานการณ์โลกปัจจุบัน ในฐานะที่เราเป็นชาววัดควรสำรวจตรวจสอบตนเองให้มากยิ่งขึ้นว่า

1.เรายังมีข้อบกพร่องอะไรบ้าง แล้วรีบแก้ไขเสีย
2.มีข้อดีอะไรบ้าง พบแล้วรีบทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

ทั้งนี้เพราะบัณฑิตมีการพิจารณาแก้ไขตัวเองเป็นกำลัง ไม่เพ่งโทษใคร มีแต่จะเพ่งโทษตัวเอง และแก้ไขตัวเองให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อจะได้ไม่มีโทษ ไม่มีพิษ ไม่มีภัยติดตัวข้ามชาติไป ส่วนคนพาลมีการเพ่งโทษจับผิดคนอื่นเป็นกำลัง

อนึ่ง เมื่อเราลดกระแสกิเลสในตัวเราลงได้ ก็เหมือนกับเราชักฟืนออกจากเตาไฟที่กำลังเผาโลกให้วุ่นวาย เมื่อลดกระแสกิเลสจากตัวเราได้คนหนึ่ง ก็สามารถลดกระแสกิเลสและกระแสกรรมโดยรวมได้คนหนึ่ง ทั้งยังเป็นการเติมบุญให้แก่ตนเองและเติมบุญให้แก่โลกด้วย




9.ปฏิบัติความดีสากล

นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นบัณฑิต ควรปฏิบัติ “ความดีสากล” ให้คุ้นเคยจนเป็นปกตินิสัย

ความดีสากล คือ ข้อปฏิบัติทางกาย วาจา ใจ ขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกเพศทุกวัย ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา และทุกลัทธิความเชื่อ ซึ่งต้องฝึกปฏิบัติด้วยตนเองจนกระทั่งเป็นนิสัย เพื่อคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานของผู้นั้นเอง ประกอบด้วยความดี 5 เรื่องด้วยกัน คือ

1.นิสัยรับผิดชอบต่อความสะอาด
2.นิสัยรับผิดชอบต่อความเป็นระเบียบ
3.นิสัยรับผิดชอบต่อความสุภาพ
4.นิสัยรับผิดชอบต่อการตรงต่อเวลา
5.นิสัยรับผิดชอบต่อการมีจิตเป็นสมาธิ

ความดีสากล เริ่มที่ความสะอาด จะต้องรักษากันตลอดชีวิต แล้วจะเป็นผลให้ต้องรักษาความเป็นระเบียบ สุภาพ ตรงต่อเวลา และการฝึกสมาธิ

ทำไมต้องรักษาความสะอาด

เพราะความสกปรกโสโครกออกจากตัวมนุษย์ทุกวัน ทุกอนุวินาที เพราะฉะนั้น ความสะอาดจึงจำเป็นจะต้องรักษาตลอดชีวิต ถ้าไม่รักษา มันก็สกปรกพอกพูนจนโสโครกขึ้นไปอีก

พอสกปรกเดี๋ยวมันก็ไม่มีระเบียบ เมื่อไม่เป็นระเบียบ มันก็มีแต่เพิ่มความสกปรกรกรุงรัง เพิ่มความโสโครกมากขึ้นไปอีก

แล้วตราบใดที่ยังอยู่กับคน ก็ต้องปฏิบัติต่อกันอย่างสุภาพไปตลอดชาติหนึ่ง ๆ

นอกจากปฏิบัติต่อกันอย่างสุภาพแล้ว ก็ยังต้องรักษาเวลาให้ดีมิฉะนั้น ถ้าไม่ตรงเวลา ก็ต้องมีข้ออ้าง มีข้อแก้ตัว มีคำโกหก คำพูดก็พัง ความสุภาพก็พัง สังคมก็พัง เศรษฐกิจก็พัง แต่ว่ากิเลสในใจเรา กลับโตวันโตคืน ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องฝึกความตรงต่อเวลาในชาตินี้ตลอดทั้งชาติเลย

สมาธิก็ต้องทำทั้งชาติ หนีไม่ได้ แต่ก็นั่งสมาธิไม่ใช่งานหนัก เป็นงานที่ทุกคนทำได้ และก็ต้องทำสมาธิกันไปตลอดชาติ

ความดีสากลทั้งห้าข้อนี้ เมื่อเราทำได้ตลอดชีวิตแล้วล่ะก็ มันก็จะกลายเป็นนิสัย แล้วพัฒนาเป็นคุณธรรม เป็นศีลธรรม เป็นธรรมะ เป็นบารมีที่ยิ่ง ๆ ขึ้นไป กลายเป็นวิสัยบัณฑิตที่มีความชำนาญในการรักษาใจให้ผ่องใสเป็นปกติ ฝังอยู่ในใจเราอย่างนี้ไปข้ามภพข้ามชาติ นี่คือความสำคัญของความดีสากลทุกข้อ ที่จะเพิ่มพูนวิสัยบัณฑิตให้แก่ตัวเรา เพื่อเป็นพื้นฐานรองรับการเข้าถึงธรรมของเรา จะขาดข้อใดข้อหนึ่งไปไม่ได้เลยทีเดียว


พระธรรมเทศนา...โดยหลวงพ่อทัตตชีโว

กราบขอบพระคุณ :
พระธรรมเทศนา...โดยหลวงพ่อทัตตชีโวเรื่อง "บทฝึกวิสัยบัณฑิตส่วนบุคคล"
ภาพประกอบบลอค

วันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2562

คนพาลกับบัณฑิตดูที่ตรงไหน ?



วันนี้ขอนำโอวาทอันทรงคุณค่าของหลวงพ่อทัตตชีโว ได้เมตตาแนะนำสั่งสอนลูกศิษย์ไว้เพื่อเป็นแนวทางในการฝึกตัวเองให้เป็นชาวพุทธที่เข้มแข็งมาแบ่งปัน โปรดติดตามอ่านได้เลย




ในการฝึกความเป็นชาวพุทธให้เข้มแข็ง สิ่งแรกที่ต้องมองให้ออกก่อนก็คือนิสัยทั้งดีและไม่ดีของตัวเราเอง โดยเฉพาะนิสัยพาลกับนิสัยบัณฑิตที่มีอยู่ในตัวเรา

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า คนในโลกนี้ ถ้าแบ่งออกแล้วจะได้สองกลุ่มใหญ่ กลุ่มหนึ่งเรียกว่า “คนพาล” อีกกลุ่มหนึ่งเรียกว่า “บัณฑิต” * พาลปัณฑิตสูตร, สํ.นิ. 16/19/32-33 (มจร.)

1.ความแตกต่างระหว่างคนพาลกับบัณฑิต

ถามว่า “คนพาล” กับ “บัณฑิต” ต่างกันอย่างไร
“คนพาล” กับ “บัณฑิต” วัดกันที่ความหล่อความสวยใช่ไหม...ไม่ใช่
วัดที่การศึกษาใช่ไหม...ไม่ใช่
วัดกันที่ยศใช่ไหม...ไม่ใช่
วัดกันด้วยความรวยใช่ไหม...ไม่ใช่
ติดเครื่องหมายบอกว่า หน้าตาอย่างนี้คนพาล หรือหน้าตาอย่างนี้บัณฑิต ใช่ไหม...ไม่ใช่

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า คนพาลกับบัณฑิตนั้น มีความต่างกันอยู่ตรงที่ “ใจ”
*ยมกวรรคที่ 1, ขุ.ธ. 40/11/1-2(มมร.)
การเป็นคนพาลหรือบัณฑิตไม่ได้อยู่ที่รูปร่าง หน้าตา การศึกษา ยศ ตำแหน่ง ฐานะทางสังคม ทรัพย์สินเงินทอง หรือเพศภาวะ ทุกคนมีโอกาสเป็นคนพาลหรือบัณฑิตได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือเป็นพระ





2.กำลังของคนพาลกับบัณฑิต

พระพุทธองค์ตรัสไว้ชัดเจนว่า ลักษณะของคนพาลที่ปรากฏให้เห็น คือ มีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง เป็นพวกชอบการจับผิดคนอื่น ส่วนลักษณะของบัณฑิตมีการแก้ไขปรับปรุงตนเองเป็นกำลัง*ฐานสูตร, องฺ.จตุกฺก. 35/115/310-311 (มมร.)




บุคคลที่อยากรู้ว่า ตนเป็นคนพาล หรือเป็นบัณฑิต ครั้นเมื่อไปส่องกระจกดู ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แก่ใจตนว่า มีเชื้อพาลอยู่เต็มตัว แต่พอเห็นเงาตัวเองเท่านั้น กลับกลายเป็นหลงไปว่า ตัวเองเป็นบัณฑิตกันทุกคน

3.ทุกคนมีทั้งเชื้อพาลและบัณฑิตอยู่ในตัวผลัดกันขึ้น ๆ ลง ๆ

พวกเราคงต้องมาพินิจพิจารณาตัวเองกันให้ดี เพราะอันที่จริงแล้วทุกคนต่างมีเชื้อพาลและบัณฑิตอยู่ในตัวด้วยกันทั้งสิ้น



ถ้าทุกคนมีความเป็นบัณฑิตบริบูรณ์ไม่มีข้อบกพร่องเลย วันนี้เราคงไม่ได้มาเจอหน้ากันแถวนี้ คงหมดกิเลส เข้านิพพานกันไปหมดแล้ว แต่พวกเรายังมานั่งอยู่ที่นี่ เพราะยังมีเชื้อพาลหลงเหลืออยู่


อย่างไรก็ตาม ถ้าเราเป็นคนพาลคนเลวจริง ๆ ไม่มีเชื้อดีอยู่เลย ก็คงไม่อุตส่าห์มาวัดกันอยู่เป็นประจำหรอก แต่เพราะเรารู้ตัวว่านิสัยบางอย่างของเรายังไม่ดี คือมีเชื้อพาลปนอยู่เหมือนกัน เราจึงตั้งใจเข้าวัดปฏิบัติธรรมกัน เมื่อพบว่ามีอะไรบกพร่อง ก็พยายามแก้ไขปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นเรื่อยไปโดยไม่ย่อท้อ





พฤติกรรมเหล่านี้ย่อมแสดงว่าในตัวของพวกเรานั้น ก็ยังมีทั้งเชื้อพาลและเชื้อบัณฑิตปะปนกันอยู่ เดี๋ยวก็ขึ้นเดี๋ยวก็ลง เดี๋ยวก็ดีเดี๋ยวก็ร้าย ผลัดกันขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่อย่างนี้ นี่คือความจริงที่พวกเรามองข้ามไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราต้องตั้งใจฝึกความเป็นชาวพุทธของตัวเราให้เข้มแข็ง โดยการเพิ่มพูน “วิสัยบัณฑิต” ให้แก่ตัวเราเอง

ความหมายของวิสัยบัณฑิต

วิสัย แปลว่า ความสามารถ ความชำนาญ
บัณฑิต แปลว่า ผู้มีใจผ่องใสเป็นปกติ





วิสัยบัณฑิต แปลว่า ผู้มีความชำนาญในการรักษาใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสเป็นปกติ ไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ร้ายหรือดีเพียงใดก็ตาม

จากคำแปลนี้ได้ส่องทางให้เราเห็นเป้าหมายฝึกตัวเองไว้อย่างชัดเจนว่า ข้อสำคัญของวิสัยบัณฑิตนั้น อยู่ที่การฝึกความสามารถจนมีความชำนาญในการรักษาความผ่องใสของใจไว้ได้ในทุกสถานการณ์นั่นเอง

ทำอย่างไรเราถึงจะเพิ่มวิสัยบัณฑิตหรือเพิ่มความผ่องใสให้ใจของตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง ?

มีบทฝึกอยู่สองวิธี ซึ่งจะต้องฝึกควบคู่กันไป คือ “บทฝึกส่วนบุคคล” กับ “บทฝึกแบบเป็นทีม”


พระธรรมเทศนาโดย...หลวงพ่อทัตตชีโว 


 เรามาศึกษา "บทฝึกส่วนบุคคล" และ "บทฝึกแบบเป็นทีมได้ในตอนต่อไปนะคะ



ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูง :

พระธรรมเทศนาโดยหลวงพ่อทัตตชีโว เรื่อง คนพาลกับบัณฑิตต่างกันอย่างไร ? 

ประโยชน์ที่ได้รับ...จากการทำสมาธิ

    สมาธิก่อให้เกิดประโยชน์อย่างไรบ้าง บางคนหากไม่ได้สังเกตก็อาจไม่ทันรู้ตัวว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองนั้นเป็นผลมาจากสติปั...